วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้
     พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพระเถระ และงานของท่านมาเรียงไว้ ทำให้ได้หลักหลายประการ เช่น
-     พระมหากัจจายนเถระ  ผู้รับหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ในแคว้นอวันตีได้มาจำพรรษาที่บุพพารามด้วย แสดงว่าท่านต้องเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างอวันตีกับพุทธสำนักเพราะงานของท่านปรากฏทั้งที่อวันตีชนบท และสาวัตถี ตลอดถึงเมืองอื่น ในเขตมัชฌิมชนบทเสมอ
-     การอบรมสั่งสอนพระนวกะ เป็นงานธรรมสงเคราะห์ที่พระเถระท่านแบ่งกันรับผิดชอบ ช่วยให้เห็นโครงสร้างทางการศึกษา การปกครองในยุคนั้น ได้เป็นอย่างดีว่า พระเถระทั้งหลายได้กระจายความรับผิดชอบ ในการปกครอง อบรมสั่งสอน พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามา โดยขึ้นตรงต่อพระพุทธเจ้า แม้การวินิจฉัยตัดสินอธิกรณ์ ก็มีคณะบุคคลที่เรียกว่าพระวินัยธร รับผิดชอบในการพิจารณาสอบสวนตัดสิน โดยยึดหลักการที่ทรงแสดงไว้ สำหรับผู้ทำงานในด้านนี้
ภิกษุสามเณรที่อยู่ในความสงบ สมแก่สมณภาวะแห่งตนย่อมก่อให้เกิดผล เป็นการสร้างความยินดี ให้เกิดขึ้นแก่พระพุทธองค์ ทั้งเป็นการบูชาต่อพระพุทธองค์ ด้วยการปฏิบัติบูชา เพราะทรงยินดีนิยมในปฏิปทาเช่นนี้ การวางตนในลักษณะนี้จึงเป็นบาทแห่งการประพฤติปฏิบัติ เพื่อขัดเกลากิเลสให้เบาบางมากยิ่งขึ้น จึงทรงตักเตือนให้ท่านเหล่านั้น รีบเร่งบำเพ็ญเพียรให้ยิ่งขึ้นไป
     โดยปกติ พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงใช้เวลาหลังจากออกพรรษาปวารณาแล้ว เสด็จจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นพุทธบริวาร เพื่อแนะนำสั่งสอนประชาชนในถิ่นนั้น ๆ
     แต่ในพระสูตรนี้ เพราะทรงเห็นว่า ภิกษุสงฆ์เป็นอันมากมีพื้นเหมาะที่จะปฏิบัติ เพื่อการบรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไป จึงรับสั่งว่าจะทรงยืดเวลาการเสด็จจาริกออกไปอีกเดือนหนึ่ง เพื่อเป็นการตัดกังวล ในการเดินทางของท่านเหล่านั้นออกไปจะได้ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติได้เต็มที่ เป็นงานอันศาสดาผู้เอ็นดู ได้ทรงกระทำแก่พระสาวกของพระองค์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดุจห้วงมหรรณพ
     มีข้อที่น่าสังเกตคือ พระพุทธดำรัสที่ว่า “สงฆ์นี้เป็นเช่นเดียวกับอาหุเนยยบุคคล” เป็นต้น ทำไมจึงทรงใช้พระดำรัสเช่นนี้ พระอรรถกถาจารย์ไม่ได้อธิบายไว้ แต่เมื่อพิจารณาดูคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ทรงแสดงนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสังฆคุณส่วนที่เป็นปรหิตคุณ คือคุณที่เกื้อกูลแก่คนอื่นทั้งนั้น อันเป็นการส่องให้ได้ความเข้าใจ ในพระสังฆคุณส่วนที่เป็นอัตตคุณ ว่า
     “สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน ในความหมายที่เต็มรูปนั้น หมายเอาพระอริยบุคคล 4 จำพวก ตามนัยแห่งบทสวดที่ว่า ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐฺ ปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อันแปลว่า นี่คือใคร ? คือคู่แห่งบุรุษ 4 ได้แก่บุรุษบุคคล 8 นี้ชื่อว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า”
     ฝ่ายท่านที่เป็นกัลยาณปุถุชน ที่ประกอบด้วยสมณสัญญาสำรวมระวังในจตุปาริสุทธิศีล แม้จะไม่ชื่อว่าเข้าถึงสังฆคุณโดยสมบูรณ์ก็ตาม แต่เพราะการปฏิบัติตนเช่นนั้น ท่านเหล่านั้นจึงได้ชื่อว่า เป็นเช่นเดียวกับพระอริยบุคคลทั้งหลาย ในข้อที่อาจทำสิ่งที่เป็นปรหิตประโยชน์ แก่คนผู้อื่นถวายทาน ต้อนรับท่าน เป็นต้น ด้วยความเคารพ
     พระสงฆ์ในที่ประชุมนั้น ทรงจำแนกออกเป็นพระอริยบุคคลทุกระดับ จนถึงท่านที่เจริญพรหมวิหาร อันเป็นการแสดงถึงความอยู่ด้วยธรรม แห่งท่านเหล่านั้นตามฐานะของตน ๆ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ
     พระอนาคามี ผู้ละสังโยชน์ได้ 5 ประการ ทรงแสดงว่าจะอุบัติเป็น โอปปาติกะ และไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก แต่จะปรินิพพานในโลกนั้น อันได้นามว่าสุทธาวาส แสดงว่าสุทธาวาสแต่ละชื่อ เป็นโลกแต่ละโลก ส่วนที่ตั้งของโลกเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ไม่ปรากฏที่มา แต่ที่แน่นอนคือไม่ใช่โลกนี้
     พระสกทาคามี ทรงแสดงว่าจะมาสู่โลกนี้ อีกคราวเดียว ทำให้น่าคิดว่าพระอริยบุคคลระดับนี้ต้องเกิดอีกสองชาติ หรือชาติเดียว เพราะตามมรรคที่ท่านบรรลุ ทำให้ท่านบังเกิดในสุคติแน่นอน หลังจากตายไปแล้ว
     คำว่ามาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว หมายเอาการอุบัติในชาติต่อไป หรือการจุติจากเทวโลก แล้วมาบำเพ็ญเพียรบรรลุอรหันต์และนิพพานในโลกนี้ แต่ข้อที่แน่นอนคือ พระพุทธศาสนายอมรับว่า ยังมีโลกที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัย ไปอุบัติด้วยอำนาจกรรม ที่แตกต่างกันอีกมาก หามีเฉพาะโลกมนุษย์ เพียงโลกเดียวไม่
     ในพระสูตรนี้ ทรงเน้นหนักไปที่ อานาปานสติกรรมฐาน โดยทรงแสดงอานิสงส์ และขั้นตอนแห่งการปฏิบัติไว้ตามลำดับ ทำให้เห็นเอกภาพแห่งธรรมตามหลักที่ว่า
     “กุศลมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นแล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเจริญงอกงามยิ่งขึ้น เหตุนั้น กุศลธรรมจึงควรสร้างให้เกิดขึ้น”
     พระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาอรรถกถาปปัญจสูทนี ท่านไม่ได้อธิบายไว้ในอรรถกถา เพราะท่านได้อธิบายไว้แล้ว ในปกรณ์พิเศษวิสุทธิมรรค โดยท่านจำแนกการมนสิการ ในอานาปานสติไว้เป็นลำดับคือ
1.          คณนา การนับ โดยเริ่มจากการนับ 1-1 ถึง10-10 ให้นับเป็นคู่ ๆ จาก 1-1 จนถึง 10-10 โดยไม่นับให้เกิน 10 จะนับช้าหรือเร็วก็ได้
2.          อนุพนฺธนา คือ การกำหนดสติตามลมไป โดยกำหนดเป็นจุดไว้ 3 จุด คือ ปลายจมูกหรือริมฝีปาก ที่หัวใจ และที่ท้อง เรียกว่า ต้นลม กลางลม และปลายลม
3.          ผุสนา คือ จุดที่ลมกระทบ ฐฺปนา คือ การตั้งมั่นแห่งจิต อันเกิดจากการกำหนดรู้จุดที่ลมกระทบ ทั้ง 3 แห่ง ตามที่กล่าวในข้อ 2
4.          สลฺลกฺขณา คือ การกำหนดเรื่องลม ในจุดนั้น  ๆให้ชัดเจน ว่าเป็นอย่างไรได้แก่วิปัสสนา
5.          วิวฏฺฏนา หยุด ปริสุทฺธา หมดหยุด ได้แก่มรรคและผลตามลำดับ
6.          เสสํ ปฏิปสฺสนา ย้อนดูมรรคผล อันเกิดจากวิปัสสนา การเจริญอานาปานสติ จึงเป็นทั้งสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน โดยมีการกำหนด และสำเหนียกไปตามลำดับ ที่ทรงแสดงไว้ในพระสูตร ในวิสุทธิมรรค ม่านแยกออกเป็น จตุกะ คือจัดเป็นหมวด ๆ ละ 4 ดังนี้
1.          หายใจออกยาว เข้ายาว ออกสั้น เข้าสั้น ก็รู้ว่าเราหายใจเข้า ออก ยาว สั้น สำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้กายทั้งหมด หายใจเข้า ออก ยาว สั้น
2.          สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งปิติ สุข จิตตสังขาร ระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า หายใจออก
3.          สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต ทำจิตให้บันเทิง ตั้งจิตมั่น เปลื้องจิต หายใจเข้า หายใจออก
4.          สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง เห็นความคลายไป ความดับ ความสละทิ้ง หายใจเข้า หายใจออก
ข้อแรก เป็นหลักที่ทรงแสดง แก่ผู้เริ่มปฏิบัติส่วนข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 4 เป็นเรื่องของการศึกษา ในเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนาตามลำดับ สำหรับท่านที่เจริญอานาปานสติ มาจนได้ความสงบถึงฌาน ผู้ต้องการจะเจริญอานาปานสติ ท่านจึงแนะให้ทำศีลของตนให้บริสุทธิ์ แล้วทำการศึกษาในเรื่องของกรรมฐานไปตามลำดับ คือ
อุคคหะ การเรียนเอาวิธีการ หลักการ ขั้นตอนแห่งกรรมฐาน
ปริปุจฉา สอบถามในเรื่องกรรมฐาน ที่ตนยังสงสัย หรือยังไม่เข้าใจ
อุปัฏฐาน รู้ความปรากฏแห่งนิมิตของกรรมฐาน อันนิมิตแห่งกรรมฐานนั้น ท่านบอกว่า ลักษณะของนิมิตหาปรากฏ แก่ผู้ปฏิบัติเหมือนกันทุกคนไม่ เช่นบางคนอาจปรากฏเหมือนปุยนุ่น บางคนปรากฏเหมือนปุยฝ้าย สายลม ดวงดาว เม็ดมณี ไข่มุก เสี้ยนไม้ สายสังวาล พวงดอกไม้ เปลวควัน เป็นต้น แต่ละท่านนิมิตปรากฏไม่เหมือนกัน
อัปปนา ความแน่วแน่แห่งกรรมฐาน
ลักษณะ คือ การกำหนดกรรมฐานไว้ หมายความว่า สามารถจดจำสภาพแห่งกรรมฐานไว้ได้
     ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือการเจริญกรรมฐานนั้น หลักสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ “ดูอะไร ? แต่ขึ้นอยู่กับ “ดูอย่างไร ? มากกว่า เพราะจากการดูลมนี้เองอาจเป็นไปได้ทั้งเป็นการดู กาย เวทนา จิต ธรรม ตามที่ทรงแสดงไว้ และเป็นได้ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า จะดูอย่างไรเท่านั้น
     การก้าวไปแห่งจิต จากกาย เวทนา จิต ธรรม ไปสู่สัมโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ และการก้าวไปในโพชฌงค์แต่ละข้อมีลักษณะเหมือนก้าวไปแห่งกาย ของคนที่เดินไปตามหนทาง หรือขึ้นบันไดแต่ละย่างก้าวที่ก้าวเดินไป มรความสำคัญอยู่ในตัวเอง อันจะขาดเสียไม่ได้ คือก้าวที่ 1 มีความสำคัญในตนเอง และเป็นเหตุให้เกิดเป็นก้าวที่ 2 และจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอย่างนี้ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ที่ต้องการจะไป
     เนื่องจากอานาปานสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่พระผู้มีพระภาค ทรงบำเพ็ญก่อนตรัสรู้ อุปกรณ์ที่จะใช้ในการเจริญอยู่ที่ตัวคนทุกคน นิมิตแห่งกรรมฐานดีงาม เหมาะสมแก่คนเกือบทุกจริต
     เหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงทรงแสดงอานิสงส์แห่งอานาปานสติ ไว้โดยอเนกปริยาย เป็นต้นว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย ! แม้อานาปานสติสมาธินี้แล ประณีตแท้ด้วยเป็นธรรมเครื่องพักอยู่ อันละมุนละไมและเป็นสุขด้วย ยังธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้น ๆ ให้หายลับระงับไปโดยพลัน ด้วยอานาปานสติ ภิกษุพึงบำเพ็ญเพื่อตัดเสียซึ่งวิตก”

     “ราหุล ! เมื่ออานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล แม้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อันเป็นจิตดวงสุดท้ายดับก็รู้ หาดับโดยไม่รู้ไม่

จบพระไตรปิฎกฉบับสาระ ในภาคพระสูตรจัดทำโดย ธรรมรักษา ซึ่งผมก็นั่งพิมพ์มาเรื่อย ๆ จนจบ ซึ่งเขาไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...