วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เหตุที่ห้ามพระขุดดิน

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เมืองอาฬวี ครั้งนั้นพวกภิกษุชาวรัฐอาฬวี ช่วยทำการก่อสร้างกุฏีที่พัก พากันขุดดินเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นขุดบ้าง
     ชาวบ้านที่รู้เห็นว่าพระขุดดิน ต่างพากันตำหนิติเตียน ว่าเหตุไฉนพระสมณะผู้รักสงบไม่เบียดเบียนใคร จึงขุดดินเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นขุดบ้าง เพราะการขุดดินทำให้เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งที่มีชีวิต
     บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อยสันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อการศึกษา ต่างพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วจึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธองค์
     พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งประชุมสงฆ์ สอบสวนได้ความจริงแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุขุดเองหรือใช้ให้ผู้อื่นขุดแผ่นดิน ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ผู้ฝ่าฝืน

ขยายความ ความเชื่อถือของชาวอินเดียในเมืองอาฬวี ที่เป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติห้ามพระขุดดินนี้ เขาเชื่อว่า "ดินมีชีวิต" การขุดดินก็เท่ากับเป็นการฆ่าสัตว์โดยตรง ในที่นี้หมายถึงดินล้วน ๆ ที่ไม่มีใส้เดือนหรือสิ่งมีชีวิตที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เมื่อมีชาวบ้านตั้งข้อรังเกียจ จึงทรงห้ามพระฝืนมติชาวบ้าน เพราะความเป็นอยู่พระต้องอาศัยชาวบ้าน
     ในเมืองไทยเรา ชาวบ้านมิได้เชื่อถือเช่นนั้น  จึงมิได้รังเกียจพระขุดดินปลูกต้นไม้ หรือก่อสร้างกุฏีก็ตาม ยกเว้นชาวพุทธบางคน ที่ถือวินัยเถนตรงโดยไม่รู้ความมุ่งหมายของท้องถิ่น จึงตั้งเป็นข้อรังเกียจพระที่ขุดดิน 

     
(ผู้เขียนเห็นว่าพระไม่ขุดจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยอาจฆ่าใส้เดือนหรือตัวหนอน มด ปลวก ที่อาศัยอยู่ในดินได้ ทำให้ผิดศีลข้อ ปาณาฯ)

     

วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ถ้ามีสตรีบวช ศาสนาไม่ตั้งอยู่นาน

     "อานนท์ ! ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน
     สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วบัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปีเท่านั้น
     อานนท์ ! สตรีได้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน
     เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้น ถูกพวกโจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย
     อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอก ที่ลงในนาข้าวสาลีที่สมบูรณ์นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
     อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนเพลี้ย ที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
     อานนท์ !บุรุษกั้นทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใดเราบัญญัติครุธรรม 8 ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นก็เหมือนกัน"

วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เรื่องร้ายกลายเป็นดี

      พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันเมืองสาวัตถี พราหมณ์คนหนึ่งเคยรับราชการ แต่ได้ถูกปลดออกจากราชการแล้ว เขาคิดว่าจะทูลขอรับตำแหน่งเดิมคืน จึงอาบน้ำแต่งตัวอย่างดี แล้วเดินทางผ่านสำนักภิกษุณี เพื่อจะไปเฝ้าพระราชา
     ขณะที่เดินผ่านสำนักของนางภิกษุณี ได้มีภิกษุณีรูปหนึ่งเทหม้ออุจจาระออกทางข้างฝา ราดลงบนศรีษะของพราหมณ์พอดี เขาโกธรมากถือว่าเป็นอัปมงคล จึงคิดจะเผาสำนักภิกษุณีเหล่านี้เสีย
     เขารีบกลับบ้าน จุดคบเพลิงจะนำไปเผา ขณะเดินไปใกล้สำนักภิษุณี มีอุบาสกคนหนึ่งเดินมาจากสำนักภิกษุณี สอบถามได้ความว่าจะไปเผาสำนักภิกษุณี เขาจึงแนะว่า
     "ท่านผู้เจริญ ! สิ่งที่ท่านถูกกระทำนั้น หาได้เป็นอัปมงคลไม่ แต่กลายเป็นมงคลสำหรับท่าน ท่านจงรีบไปเถิด ท่านจะได้ทรัพย์ 1000 ตำลึง พร้อมทั้งได้รับตำแหน่งเดิมคืนด้วย"
     พราหมณ์รีบกลับบ้าน อาบน้ำชำระร่างกายแล้ว รีบไปสู่ราชสำนัก ก็ได้รับเงินพันตำลึงและตำแหน่งเดิมคืน สมตามที่อุบาสกบอก
     ฝ่ายอุบาสกนั้น ได้ไปสู่สำนักภิกษุณี แจ้งเหตุที่เกิดขึ้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ แล้วขู่สำทับภิกษุณีที่ไม่มีคุณสมบัติสตรี
     เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ ทรงสอบสวนได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามมิให้ภิกษุณี เทเองหรือใช้ให้เทสิ่งปฏิกูล ออกนอกฝาหรือกำแพงต่อไป

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ครุธรรม 8 (กำเนิดภิกษุณี)

      1.ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว 100 ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น
     2.ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษา ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
     3.ภิกษุณีต้องหวังธรรม 2 ประการ คือ ถามวันอุโบสถ 1 เข้าไปฟังคำสั่งสอน 1 จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
     4.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ 2 ฝ่ายโดยสถานทั้ง 3 คือ 1โดยได้เห็น 2.โดยได้ยิน 3.โดยรังเกียจ
     5.ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ 2 ฝ่าย
     6.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ 2 ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม 6 ประการครบ 2 ปีแล้ว
     7.ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง
     8.ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี
     ธรรมทั้ง 8 ข้อนี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

ขยายความ ครุธรรม 8 ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงประทานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นภิกษุณีองค์แรก แทนการ อุปสมบทด้วยสงฆ์สองฝ่าย

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ห้ามภิกษุณีฉันกระเทียม

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันเมืองสาวัตถี อุบาสกคนหนึ่งได้ปวารณากระเทียมแก่นางภิกษุณีสงฆ์ ถ้าต้องการกระเทียมให้มาเอาได้ ทั้งที่ร้านค้าและที่ไร่องค์ละ 2-3 กำ     ต่อมา ในเมืองสาวัตถีมีงานมหรสพ มีคนมาซื้อกระเทียมที่ร้านค้าหมด เมื่อนางภิกษุณีมาขอจึงไม่ได้ อุบาสกเจ้าของร้านขายกระเทียม ขอให้ภิกษุณีไปเอาที่ไร่ ภิกษุณีถุลลนันทาได้ไปเอากระเทียมที่ไร่มากมาย จนคนเฝ้าไร่ติเตียนว่าไม่รู้จักประมาณ     ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม ได้ความจริงแล้วทรงติเตียนเป็นอันมาก จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุณีฉันกระเทียม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ทรงนำเอานิทานมาเล่า ประกอบเรื่องของคนโลภมาก ดังนี้                               เรื่องหงษ์ทอง     เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาได้เคยเป็นภรรยาของพราหมณ์คนหนึ่ง มีธิดาอยู่ 3 คน ชื่อ นันทา นันทวดี และ สุนทรีนันทา     อยู่ต่อมา พราหมณ์สามีตายลง ไปเกิดเป็นหงส์ทอง มีขนเป็นทองทั้งตัวอยู่ในบ้านของตนนั่นเอง ด้วยความกรุณาหงส์ทองได้สลัดขนทอง ให้ครอบครัวของตนในอดีตคนละ 1 ขน รวมวันละ 4 ขนเป็นประจำ     ภิกษุณีถุลลนันทาเกิดความโลภ จึงจับหงส์ทองถอนขนจนหมด ขนที่ออกมาใหม่เลยกลายเป็นสีขาวไปขยายความ การไม่รู้จักควบคุมความต้องการให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร ย่อมจะทำความเดือดร้อนให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ห้ามภิกษุฉันกระเทียม

      สมัยนั้น พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม แก่พุทธบริษัทหมู่ใหญ่อยู่ มีภิกษุรูปหนึ่งฉันกระเทียม ท่านเกรงว่ากลิ่นของกระเทียม จะรบกวนสมาธิของภิกษุทั้งหลาย จึงออกไปนั่งฟังธรรม อยู่ภายนอกหมู่บริษัท      พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็น จึงรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า      " ทำไมหนอ ภิกษุนั่นจึงนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง ? " ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า      "ภิกษุนั่นฉันกระเทียม พระพุทธเจ้าข้า และเธอคิดว่ากลิ่นกระเทียมจะรบกวนภิกษุทั้งหลาย จึงนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง"      พระพุทธเจ้าตรัสว่า      "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุฉันของใดแล้ว จะพึงเป็นผู้เหินห่างจากธรรมกถาเห็นปานนี้ ภิกษุควรฉันของนั้นหรือ ?"      ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า      "ไม่ควรฉันพระพุทธเจ้าข้า"      "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงฉันกระเทียม รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ"      ต่อมา พระสารีบุตรอาพาธ เป็นลมเสียดในท้อง พระโมคคัลลานะไปเยี่ยมถามพระสารีบุตรว่า เมื่อก่อนท่านเป็นลมเสียดในท้อง ท่านหายด้วยยาอะไร ท่านตอบว่าท่านเคยหายด้วยกระเทียมจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระพุทธเจ้า ๆ จึงรับสั่งว่า      "ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้ฉันกระเทียมได้ เพราะเหตุอาพาธ"

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โทษของศีลวิบัติ 5

     1.คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมเข้าถึงความเสื่อมโภคทรัพย์ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความประมาท   

    2.คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ ชื่อเสียงอันลามกย่อมเฟื่องฟุ้งไป
    3.คนทศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ เข้าไปสู่สมาคมใด ๆ ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน    
    4.คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้หลงทำกาละ   
    5.คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตและนรก 

ส่วนคุณของศีลสมบัติ 5 พึงทราบตามนัยะตรงข้ามจากนี้

ขยายความ ศีลวิบัติ คือความเสียหายที่เกี่ยวกับศีล      
ศีล คือข้อปฏิบัติ ที่ควบคุมความประพฤติทางกายและวาจา เพื่อมิให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งตนเองและสังคมส่วนรวม

     ศีลของชาวบ้าน คือ ศีล 5 และ ศีล 8      
     ศีลของนักบวช คือศีล 10 ของสามเณร      และ
     ศีล 227 ของภิกษุ


เครื่องเศร้าหมองของสมณะ 4

      1.สมณพราหม์พวกหนึ่ง ดื่มสุรา ดื่มเมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า่ ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์     

    2.สมณพราหม์พวกหนึ่ง เสพเมถุนธรรม ไม่งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า่ ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์       
    3.สมณพราหม์พวกหนึ่ง ยินดีทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการรับทองและเงิน ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า่ ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์   
    4.สมณพราหม์พวกหนึ่ง เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้นจากมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า่ ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ขยายความ เหตุแห่งความเศร้าหมองของนักบวช ทั้ง 4 ข้อ นี้ความชัดอยู่แล้วใครทำก็จะต้องเศร้าหมองแน่ ๆ  แต่ในเมืองไทย ก็ยังมีปรากฎอยู่ทั่วไป ว่านักบวชยังมีการละเมิดครบทั้ง 4 ข้อเป็นที่น่าเสียดายมาก ที่บุคคลบางจำพวก ได้อาศัยศาสนา เป็นที่หาความสุขทางเนื้อหนัง อย่างไม่ละอายใจตนเอง           ขอวอนเมตตา จากผู้ที่เห็นแก่พระศาสนา ช่วยกันกำจัดมารศาสนา ให้พ้นไปจากพุทธจักรโดยเร็วเถิด จะเป็นกุศล มหาศาล

     ปล. คำว่าเมถุนธรรม คือการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ


วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สตรีเป็นมลทินของภิกษุ

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตะวันเมืองสาวัตถี ครั้งนั้นพระอุทายีเป็นพระประจำสกุลในเมืองสาวัตถี ท่านชอบเข้าออกในสกุลเป็นประจำ ในสมัยนั้นมีหญิงสาวสกุลอุปัฏฐากของพระอุทายี เป็นหญิงที่บิดามารดายกให้แก่ชายหนุ่มไว้แล้ว     เช้าวันหนึ่ง พระอุทายีไปบ้านสกุลอุปัฏฐากนั้น แล้วถามหาหญิงสาวว่าอยู่ที่ไหนคนในบ้านบอกว่าอยู่ในห้อง พระอุทายีได้เข้าไปหาหญิงสาวคนนั้นในห้อง นั่งคุยกันตัวต่อตัวในที่กำบังนั้น     ในวันนั้น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้รับเชิญให้มาในงานมงคลที่บ้านนั้น เห็นพระอุทายีนั่งในที่ลับกับหญิงสาวหนึ่งต่อหนึ่ง นางเห็นว่าพระอุทายีทำไม่เหมาะไม่ควรกับเพศและภาวะจึงได้พูดตักเตือนว่า      “ข้าแต่พระคุณเจ้า ! การที่พระคุณเจ้านั่งในที่ลับ ในที่กำบังซึ่งพอจะทำการได้กับหญิงหนึ่งต่อหนึ่งเช่นนี้ เป็นการไม่เหมาะไม่ควร แม้พระคุณเจ้าจะไม่ต้องการด้วยสิ่งนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้นพวกชาวบ้านที่เขาไม่เลื่อมใส จะบอกให้เชื่อว่าท่านบริสุทธิ์ได้โดยยาก”      พระอุทายีแม้ถูกนางวิสาขากล่าวเช่นนั้น ก็มิได้สนใจใส่ใจในคำตักเตือน เมื่อนางกลับไปแล้วจึงได้เล่าเรื่องนี้ให้พวกภิกษุฟัง ภิกษุที่เป็นผู้มักน้อยและสันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ เคารพต่อการศึกษา ต่างพากันเพ่งโทษติเตียนพระอุทายีว่าทำไม่ถูกไม่ควร แล้วกราบทูลเรื่องนี้แด่พระพุทธเจ้า     พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ สอบสวนพระอุทายี เมื่อได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงตำหนิว่า ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เพราะเป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่เลื่อมใสกลับไม่เลื่อมใสยิ่งขึ้น และผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะคลายความเลื่อมใส     ครั้นทรงติเตียนพระอุทายีเป็นอันมากแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามมิให้ภิกษุนั่งในที่ลับหูหรือลับตากับหญิงหนึ่งต่อหนึ่งอีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันนี้พระวินัยข้อนี้ ก็ยังใช้บังคับอยู่ขยายความ ความเสื่อมของพระ ที่เกี่ยวกับสตรีมีมากเรื่อง ผู้หวังความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย ถ้าไม่ใส่ใจในพุทโธวาทที่ว่าด้วยการปฏิบัติตัวของพระต่อสตรี อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าจะมีความสงบใจ     น่าสรรเสริญนางวิสาขา ที่ทำตนเป็นชาวพุทธที่ดี เมื่อเห็นพระทำไม่ถูกไม่ควรก็แนะนำตักเตือนด้วยเมตตาจิต เมื่อเตือนแล้วไม่ฟังไม่ทำตาม จึงนำไปบอกแก่พระแทนที่จะเอาไปโพนทะนากับชาวบ้าน นับว่าเป็นตัวอย่างที่ควรแก่การสาธุ     ถ้าชาวพุทธเราไม่ถือคติ ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์อย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกา ต่างช่วยกันปกป้องความเสื่อมของพระศาสนา คนละไม้คนละมือเป็นหูเป็นตาแทนองค์พระศาสดาโดยพร้อมเพรียงกันแล้ว ภิกษุสามเณรในเมืองไทย ก็น่าจะไหว้น่ากราบน่าทำบุญขึ้นอีกมากทีเดียว ขอฝากเรื่องนางวิสาขา ไว้เป็นตัวอย่างแก่ชาวพุทธทุกท่านด้วย


วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เงินทองเป็นมลทินของภิกษุ



     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ ครั้งนั้นพระอุปนนทศากยบุตรเป็นพระประจำของตระกูลหนึ่ง ท่านรับบิณฑบาตที่บ้านนั้นเป็นประจำ เขามักจะแบ่งอาหารไว้ถวายท่านในวันรุ่งขึ้นประจำ

     เย็นวันหนึ่ง บ้านนั้นมีเนื้ออยู่ชิ้นหนึ่ง เขาตั้งใจไว้ว่าจะเอาไว้ถวายพระอุปนนท์ แต่พอเช้ามืดวันรุ่งขึ้น เด็กเล็กตื่นนอนขึ้นมา แลเห็นเนื้อเข้าก็ร้องไห้จะเอา ทำอย่างไรก็ไม่ยอมสามีจึงบอกภรรยาไปว่า จงให้ชิ้นเนื้อแก่เด็กไปเถิดแล้วค่อยซื้อสิ่งอื่นถวายท่าน

     พอสว่างพระอุปนนท์ถือบาตรมาบ้านนั้น พ่อบ้านได้เล่าเรื่องชิ้นเนื้อถวายว่าได้ให้เนื้อแก่เด็กไปแล้ว ตอนนี้จะหาซื้ออะไรไม่ทัน ท่านจะให้ทำอย่างไรดี เนื้อนั้นมีค่าหนึ่งกหาปณะผมแยกเงินไว้แล้ว

     พระอุปนนท์ได้บอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องซื้ออะไรแล้ว เอาเงินหนึ่งกหาปณะนั่นแหละมาให้ท่านแทน สามีจึงได้ถวายเงินหนึ่งกหาปณะแก่พระอุปนนท์ พอถวายไปแล้วก็เพ่งโทษติเตียนว่า พระสมณะรูปนี้รับเงินทองเหมือนพวกชาวบ้าน

     เมื่อข่าวการรับเงินของพระอุปนนท์รู้ไปถึงหมู่ภิกษุ พวกภิกษุต่างพากันรังเกียจจึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธองค์ จึงทรงประชุมสงฆ์ตำหนิการกระทำนั้น แล้วบัญญัติเป็นสิกขาบท ห้ามภิกษุรับเงินทองเอง หรือใช้ให้คนอื่นรับ เพื่อเก็บไว้สำหรับตน ซึ่งสิกขาบทนี้ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้

ขยายความ ความมุ่งหมายในการบัญญัติวินัยข้อนี้ ในชั้นแรกทีเดียวนั้น ก็มุ่งความติเตียนของชาวบ้านเป็นเกณฑ์

     แต่ถ้าจะพิจรณากันให้ตลอดสาย ทั้งอดีตและปัจจุบัน จะเห็นพระอนาคตังสญาณ ของพระพุทธองค์อย่างแจ่มชัด คือนอกจากทรงมุ่งชาวบ้านตำหนิแล้ว ยังมุ่งมิให้พระสะสมและแก้ปัญหาต่าง ๆ อันเกิดขึ้นจากเงินเป็นเหตุอีกมากมาย

     แม้ในวินัยเอง ก็ยังทรงให้ยินดีสิ่งของ อันเกิดจากเงินได้ แต่มิได้หมายความว่าให้รับเงินเอง เก็บเอง ใช้เอง นั่นสมัยพุทธกาล

     ในสมัยปัจจุบันนี้ พระควรใช้เงินหรือไม่ ? ตามความเห็นของผู้จัดทำ ต้องดูกันที่ กาละ เทศะ และบุคคลนั่นก็คือ การปฏิบัติให้ถูกต้องพระวินัย ควรจะมาเป็นอันดับแรก ไม่รับไม่เก็บเอง หรือให้เขาเก็บไว้เพื่อตน แต่ควรจะมีผู้เก็บไว้เป็นกองกลาง (ของสงฆ์)

     อันดับสอง ถ้าทำไม่ได้ตามข้อแรก ควรจะรับเอง เก็บเองและใช้เองได้ แต่ต้องดูสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าชาวบ้านรังเกียจก็ไม่ควรจะทำ ควรจะถามความมุ่งหมายของชาวบ้านดู ว่าจะให้พระทำอย่างไร ชาวบ้านจะร่วมมือ ให้พระได้เอื้อเฟื้อพระวินัยได้เพียงไร ถ้าชาวบ้านช่วยรับภาระได้ก็หมดปัญหา

     อันดับสุดท้ายถ้าไม่มีผู้สนอง และชาวบ้านไม่รังเกียจ ก็ รับ เก็บ และใช้เองได้ แต่จะต้องยึดหลักไม่สะสม และจะใช้ในสิ่งที่ควรแก่สมณะเท่านั้น ต่อไปเมื่อมีผู้สนอง ก็ควรจะงดเสีย

     อย่าหลับตาด่าพระเรื่องเงินกันต่อไปอีกเลย จะให้พระเคร่งครัดวินัยแต่ท่านไม่เคยช่วยพระเลย อย่างนี้แล้วท่านจะเป็น อุบาสกอุบาสิกา ที่มีเมตตาได้อย่างไร ?

    

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

ทองและเงิน ไม่ควรแก่สมณะ


     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชสำนัก ได้ยกเรื่องเงินและทอง ขึ้นสนทนากันว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีและรับทองและเงิน

     ในที่ประชุมนั้น มีนายบ้านชื่อมณีจูฬกะรวมอยู่ด้วย เขาได้กล่าวแก่ที่ประชุมนั้นว่า

     “นาย ! พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะ พระสมณะไม่ยินดี และไม่รับทองและเงิน พระสมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน”

     เมื่อนายบ้านได้ชี้แจงความจริง ให้ที่ประชุมนั้นเข้าใจแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น และกราบทูลต่อไปว่า

     “เมื่อข้าพระพุทธเจ้า กล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามพระผู้มีพระภาค ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมอันสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูปผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนหรือ พระพุทธเจ้าข้า ?”

     พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

     “เอาละนายบ้าน ! เธอพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ

     ดูก่อนนายบ้าน ! ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะโดยแท้ สมณะไม่ยินดีทองและเงิน สมณะไม่รับทองและเงิน สมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร



     เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบรุษพึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไร ๆ ว่า สมณะพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558

พระอานนท์ถูกสงฆ์ปรับอาบัติ

     หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไม่นาน พระมหากัสสปซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ได้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมและวินัย โดยอาศัยมูลเหตุที่พระสุภัททะ ได้เป็นผู้กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัย เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 7 วัน

     ก่อนทำปฐมสังคายนาเล็กน้อย พระเถระทั้งหลายได้พร้อมใจกัน ปรับอาบัติพระอานนท์ ซึ่งสำเร็จพระอรหันต์แล้ว รวม 5 ข้อด้วยกัน คือ

     1.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ไม่กราบทูลถาม ถึงเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย ที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ถอนได้ ถ้าสงฆ์จำนงจะถอน

     พระอานนท์แก้ว่า เพราะระลึกไม่ได้ว่า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย จึงมิได้ทูลถาม แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น 

     2.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฎกของพระพุทธเจ้า ในเวลาเย็บผ้าผืนนั้น

     พระอานนท์แก้ว่า ที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฎกเวลาเย็บนั้น จะไม่มีความเคารพในพระพุทธเจ้าก็หามิได้ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

     3.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ยอมให้สตรีถวายบังคมพระสรีระของพระพุทธเจ้าก่อน พระสรีระเปื้อนน้ำตา ของพวกนางที่ร้องไห้อยู่

     พระอานนท์แก้ว่า ที่ทำดังนั้นเพราะเกรงว่า สตรีเหล่านี้จะกลับบ้านค่ำ จึงให้ถวายบังคมพระสรีระก่อน ไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลายจึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

     4.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ไม่ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้า เมื่อทรงทำนิมิตโอภาสอันหยาบอยู่ ไม่ทูลอ้อนวอนให้ทรงอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

     พระอานนท์แก้ว่า ที่ไม่ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้า ทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพราะมารดลใจ ไม่เห็นว่าเป็นความผิด แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

     5.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ท่านขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

     พระอานนท์แก้ว่า ที่ทำเช่นนั้น เพราะเห็นว่า พระนางมหาปชาบดีพระน้านาง ทรงเป็นผู้ประคับประคองเลี้ยงดู ทรงประทานขีรธาราแก่พระสิทธัตถะ หลังจากที่พระพุทธมารดาทิวงคต ไม่เห็นว่าจะเป็นความผิด แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัตินั้น

ขยายความ พระอานนท์ได้เป็นแบบอย่างดีเลิศในการที่ไม่มีทิฐิมานะ ท่านยอมรับความเห็นของสงฆ์ส่วนรวม ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เห็นว่าจะเป็นความผิด แต่เมื่อเป็นมติสงฆ์ส่วนรวมท่านก็ยอมปลงอาบัติ


     ชาวพุทธทั้งหลาย ถ้าถือเอาแบบท่านพระอานนท์เป็นตัวอย่าง ความวุ่นวายในวงการสงฆ์ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

ผู้ขอไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ

 พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพวกภิกษุชาวรัฐอาฬวี สร้างกุฎีที่พักของตน ๆ ใหญ่โต ไม่มีกำหนด จึงต้องใช้วัสดุในการก่อสร้างมากและสำเร็จยาก จึงต้องขอสิ่งของและอุปกรณ์การก่อสร้างจากชาวบ้าน ครั้งแล้วครั้งเล่าแม้กระทั่งแรงงานก็ต้องขอมาช่วย

     ชาวบ้านแถบนั้นต่างมีความเอือมระอาไปตาม ๆ กัน เมื่อเห็นพระเดินมาจึงพากันหลบหลีกบ้าง ปิดประตูหน้าต่างบ้างเมินหน้าทำไม่เห็นเสียบ้าง หวาดระแวงถึงขนาดเห็นแม่โคสีคล้ายจีวรพระ ก็พากันหนีด้วยคิดว่าพระมาเรี่ยไรอีกแล้วเป็นต้น

     ต่อมา พระมหากัสสปเดินทางไปรัฐอาฬวี ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านหมู่นั้นเห็นแล้วพากันหวาดสะดุ้งและหลบหนี ยังความประหลาดใจให้เกิดแก่ท่าน เพราะไม่เคยพบมาก่อน ท่านจึงคิดว่าจะต้องมีเหตุมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นแน่

     เมื่อท่านได้สอบถามพวกภิกษุเหล่านั้นทราบความแล้ว จึงรู้สึกสลดใจมาก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงรัฐอาฬวี พระมหากัสสปจึงได้กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบ
     พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิการกระทำของพวกภิกษุเหล่านั้นว่าเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของหมู่ชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของหมู่ชนที่เลื่อมใสอยู่ก่อนแล้ว

     ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีว่า เป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก เป็นคนมักมากไม่สันโดษ คลุกคลี เป็นต้น แล้วทรงนำเอาเรื่องโทษของคนขอจัดมาแสดงไว้ดังนี้

     พญานาคหนีคนขอ ฤษีสองพี่น้อง ตั้งสำนักอาศรมบำเพ็ญพรตอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาคนละแห่ง พญานาคชื่อ มณีกัณฐ์ตัวหนึ่ง มีความเอ็นดูฤษีองค์น้อง จึงขึ้นจากน้ำมาหาทุกวันมาไม่มาเปล่าแถมเอาลำตัวพันรอบ ๆ ฤษีผู้น้อง 7 รอบด้วย ฤษีผู้น้องมีความหวาดกลัวจนซูบผอม ผิวเหลืองคล้ำ มีแต่หนังหุ้มกระดูก

     ฤษีพี่ชายเห็นน้องมีอาการเช่นนั้น สอบถามก็ได้ความว่ากลัวพญานาค ถ้าน้องไม่อยากให้พญานาคมาอีก จงขอแก้วมณีที่ห้อยคอพญานาคเถิด แล้วพญานาคนั้นจะไม่มาหาอีก ถ้าวันต่อมายังมาอีกก็ให้ขออีก คือให้ขอทุกครั้งที่พบกัน

     วันต่อมา พญานาคมณีกัณฐ์ก็มาหาตามเคย พอนาคเข้ามาถึงที่อยู่ฤษีก็ออกปากขอแก้วมณีทันทีว่า

     “ขอท่านจงให้แก้วมณีที่แขวนคอแก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าอยากได้แก้วมณีที่ประดับอกท่าน

     พญานาคใจหายวูบ ความรักใคร่เอ็นดูที่มีต่อฤษีลดลงไปทันที พลางคิดว่าก็ที่เรามีอำนาจถึงปานนี้ก็ด้วยมีแก้วมณีดวงนี้ แก้วมณีดวงนี้จึงเป็นที่รักของเราอย่างยิ่ง เราจึงหวงแหนยิ่งนักจึงรีบกลับไปทันที

     วันต่อมา พญานาคก็มาหาอีก พอเข้ามาใกล้จะถึง ฤษีก็รีบร้องขอแก้วมณีอีก นาคก็เลยต้องหันหลังกลับกลับลงน้ำไปอีก

     ครั้งที่สาม พอพญานาคโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำคงคา ฤษีเห็นแต่ไกลก็รีบร้องขอแก้วมณีทันที นาคได้กล่าวตอบว่า

     “อาหารของเราเกิดจากการบันดาลของแก้วดวงนี้ ข้าพเจ้าจะให้แก้วดวงนี้แก่ท่านได้อย่างไร ? ท่านเป็นคนขอจัดเราจะไม่มาหาท่านอีกต่อไปแล้ว

     ฤษีผู้พี่จึงกล่าวคาถาตอนท้ายเรื่องว่า

     “ถ้ารู้ว่าสิ่งใดเป็นที่รักของเขา ไม่ควรขอสิ่งนั้น คนย่อมเป็นที่เกลียดชังเพราะขอจัด

     นกกลัวคนขอ ภิกษุองค์หนึ่ง ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าแถบภูเขาหิมพานต์ ใกล้ที่สำนักพระนั้น มีหนองน้ำใหญ่นกฝูงใหญ่มาอาศัยกินน้ำนั้น แล้วก็เลยพักอยู่ในป่าใกล้สำนักของภิกษุรูปนั้น

     พระมีความรำคาญด้วยเสียงนกเหล่านั้น เมื่อเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงถามถึงความผาสุก ในการทำความเพียรอยู่ในป่า พระรูปนั้นกราบทูลว่า

     “ข้าพระพุทธเจ้ารำคาญเสียงนก จึงหนีจากป่านั้นมาพระพุทธเจ้าข้า
     “เธอต้องการให้นกเหล่านั้นหนีไปหรือ ? 
     “พระพุทธเจ้าข้า

     “ถ้าเช่นนั้น เธอจงปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อนกเหล่านั้นเข้านอนในป่าเรียบร้อยแล้ว ตอนหัวค่ำเธอร้องดัง ๆ ว่า นกทั้งหลายจงฟังเรา !

นกที่อยู่ในบริเวณนี้ทั้งหมด จงให้ขนแก่เราตัวละหนึ่งขน ประกาศ 3 ครั้ง พอเวลาดึกสองยามเธอก็ไปประกาศดัง ๆ เช่นเดียวกันอีก 3 ครั้ง ๆ และเวลาใกล้รุ่งให้เธอไปประกาศอย่างนี้อีก 3 ครั้ง

     เมื่อภิกษุรูปนั้นเข้าป่า และปฏิบัติตามพระพุทธองค์ทรงแนะ พวกนกเหล่านั้นรู้ว่าพระต้องการขนของเรา และร้องขอขนของเราอยู่ทั้งคืน จึงได้พร้อมใจกันหนีออกไปจากป่านั้น ไม่กลับมาอีกเลย


     



     

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...