วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระไม่รู้จักพระ

     พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกพระองค์เดียว ไปยังมคธชนบท ทรงแวะยังกรุงราชคฤห์เสด็จเข้าไปหานายภัคควะ ซึ่งเป็นนายช่างปั้นหม้อขาย ทรงขอพักในโรงปั้นหม้อสักคืนหนึ่ง ซึ่งนายภัคควะก็ยินดี แต่ในโรงปั้นหม้อนั้น มีภิกษุรูปหนึ่งพักอยู่ก่อน ถ้าท่านอนุญาตก็นิมนต์พักเถิด
     ภิกษุที่มาพักอยู่มีชื่อว่า “ปุกกุสาติ” ท่านเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส จึงออกบวชมุ่งอุทิศพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา แต่ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปที่โรงปั้นหม้อ จึงตรัสกะท่านปุกกุสาติว่า
     “ภิกษุ ! ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักในโรงปั้นหม้อสักคืนเถิด”
     ท่านปุกกุสาติตอบว่า
     “ท่านผู้มีอายุ โรงของช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุพักตามสบายเถิด”
     พระพุทธองค์จึงเสด็จเข้าไปภายใน ทรงลาดหญ้าเป็นที่ประทับส่วนหนึ่ง ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติเฉพาะหน้า ทรงประทับนั่งอยู่จนดึกแม้ท่านพระปุกกุสาติก็นั่งสมาธิจนดึกเช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ท่านผู้นี้ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรจะถามดูบ้าง จึงตรัสถามขึ้นว่า
     “ภิกษุ ! ท่านบวชอุทิศใคร หรือว่าใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ?
     ท่านปุกกุสาติตอบว่า
     “ท่านผู้มีอายุ มี พระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวชแล้ว ก็พระสมณโคดมผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ...เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมดังนี้ ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงเป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของท่าน”
     “ภิกษุ ! ก็เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน ?
     “ทรงประทับอยู่ที่นครสาวัตถี ผู้มีอายุ”
     “ภิกษุ ! ก็ท่านเคยเห็นพระองค์แล้วหรือ ?
     “ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น และไม่เคยรู้จักเลย ท่านผู้มีอายุ”
     พระพุทธองค์มีพระดำริว่า กุลบุตรนี้บวชอุทิศเรา ฉะนั้นเราควรแสดงธรรมแก่เขา ต่อแต่นั้นพระองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง พอสรุปเป็นใจความได้ดังนี้
     คนเรามีธาตุ 6 มีที่สัมผัส 6 มีที่หน่วงนึกของใจ 18 มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ 4 ไม่มีกิเลสเครื่องหมักหมม บัณฑิตเรียกว่ามุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น
     ต่อจากนั้น ทรงขยายความของธรรมเหล่านั้นโดยละเอียด จนถึงความไม่ยึดมั่นในร่างกายตัวตนว่าเป็นเราเป็นเขาในที่สุด
     เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบลง ท่านปุกกุสาติจึงแน่ใจว่า ผู้ที่แสดงธรรมให้ตนฟังอยู่ขณะนี้ คือพระศาสดาที่ตนบวชอุทิศนั่นเอง จึงลุกจากที่นั่งห่มจีวรเฉวียงบ่าซบศรีษะลงแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ขอขมาโทษที่ไม่รู้จัก จึงมิได้แสดงคารวะธรรม พระพุทธองค์ทรงอดโทษแล้ว ท่านปุกกุสาติจึงขอบวชต่อพระพุทธองค์ แต่บาตรและจีวรของท่านมีไม่ครบทรงให้ท่านปุกกุสาติไปแสวงหาให้ครบก่อน
     เมื่อท่านปุกกุสาติกำลังแสวงหาจีวรอยู่นั้น แม่โคได้ขวิดท่านตาย แต่เพราะท่านเป็นพระอนาคามีแล้วจึงจะนิพพานในภพต่อไป

ขยายความ
ธาตุ 6 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณ
ที่สัมผัส 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ที่หน่วงนึกของใจ 18 คือ คนเห็นรูปด้วยตาแล้วเกิดความดีใจ 1
เกิดความเสียใจ (ไม่ชอบใจ 1) เกิดความเฉย ๆ 1 เมื่อ 3x6เท่ากับ 18
     เหตุที่ท่านปุกกุสาติไม่ได้บวช เพราะไม่เคยถวายจีวรไว้ก่อน แม้ท่านจะบำเพ็ญบารมีด้านอื่น ๆ จนเต็ม สามารถเป็นพระอนาคามีได้ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธเราจึงควรจะพยายามสร้าง บารมีให้ครบทุกบารมี



     

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

จะเทศนาต้องดูนิสัยคน

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้เมือง นาลันทา ครั้งนั้นผู้ใหญ่บ้านมีนามว่าอสิพันธ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลถามความข้องใจของตนว่า
     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเกื้อกูลและอนุเคราะห์สัตว์โลกโดยทั่วหน้าอยู่มิใช่หรือ ?
     “อย่างนั้นสิ อสิพันธ์ ! ตถาคตย่อมเกื้อกูลและอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งหลายโดยทั่วหน้าอยู่”
     “ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใดพระองค์จึงทรงแสดงธรรม แก่คนบางพวกและไม่ทรงแสดงธรรมแก่คนบางพวกเล่า พระเจ้าข้า?
     “อสิพันธ์ ! ถ้าอย่างนั้นเราจะขอถามท่าน ท่านเห็นควรอย่างใด จงตอบอย่างนั้น ที่นาของชาวนาในโลกนี้ มีอยู่ 3 ชนิดคือ
     - นาดี
     - นาปานกลาง
     - นาเลว
     นาเลวมีดินเหลว เค็ม และพื้นดินเลว ท่านเห็นอย่างไร เมื่อชาวนาต้องการจะปลูกข้าว เขาควรจะปลูกข้าวในนาชนิดไหนก่อนเล่า ?
     นายบ้านกราบทูลว่า
     “ควรปลูกในนาดีก่อน ต่อแต่นั้นจึงหว่านในนาปานกลาง ส่วนในนาเลวซึ่งมีดินเหลว เค็ม พื้นดินเลวนั้น จะปลูกบ้างหรือไม่ปลูกบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะในที่สุดก็จะเป็นอาหารของโคพระเจ้าข้า”
     “อสิพันธ์ ! เปรียบเหมือนนาดีฉันใด เราย่อมแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่ภิกษุและภิกษุณีของเราก่อน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
     ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านี้ มีเราเป็นที่พึ่งเป็นสรณะอยู่
     อสิพันธ์ ! นาเลวมีดินเหลว เค็ม พื้นดินเลวฉันใด เราย่อมแสดงธรรม......แก่อัญญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์และ ปริพาชกของเราเหล่านั้น ในที่สุดฉันนั้น
     เพราะท่านเหล่านั้น จะพึงรู้ธรรมแม้บทเดียว ความรู้ของท่านเหล่านั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เขาสิ้นกาลนาน..... ”
     เมื่อจบพระธรรมเทศนา ผู้ใหญ่บ้านอสิพันธ์ชื่นชม และแสดงตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต.

ขยายความ พระสูตรนี้ ได้ให้ข้อคิดแก่นักธรรมะ ที่เป็นนักเทศน์หรือครูอาจารย์ที่สอนธรรมะแก่ผู้อื่นได้อย่างดีว่า แม้แต่พระพุทธองค์ ซึ่งเป็นยอดแห่งผู้ฝึกสอนคนยังทรงต้องเลือกสอนคน แล้วเราเป็นอะไร จึงคิดว่าจะสอนคนได้ทุกคน ?
     ในการสอนธรรมะคนนั้น ควรจะมีองค์ประกอบสัก 3 ประการ คือ
-     ความรู้ของเรามีพอที่จะสอนเขาได้เพียงไร
-     กาลเทศะและบุคคล ที่จะรับคำสอน
-     พื้นฐานของคนที่รับสอนนั้น มีบารมีหรือนิสัยหรือไม่ ?
     ในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์นั้น ทรงมุ่งมรรคผลเป็นสำคัญ ที่บางครั้งทรงรอเวลา ก็เพื่อให้บารมีของผู้รับฟังเต็มเปี่ยมก่อน มิฉะนั้นจะไม่ได้ผล หรือหากจะได้ผลก็เสียเวลามากเกินเหตุ
     นักแสดงธรรมทุกวันนี้ ส่วนมากใช้วิธีเหวี่ยงแหเดาสุ่ม ผลจึงเกือบจะไม่มีเลย ที่สำคัญก็คือ ผู้สอนธรรมส่วนมาก มักลอกแบบหรือฝีปากคนอื่น แทนที่จะสร้างให้มีคุณธรรมอันเกิดขึ้นในจิตของตนเองก่อนแล้วค่อยคิดสอนผู้อื่น ด้วยเหตุนี้การสอนธรรมจึงล้มเหลวตลอดมา
     ผู้สอนตนเองได้แล้ว จึงควรสอนผู้อื่น





วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทางเสื่อมและทางเจริญ (จบ)

ทิศ6
1.ทิศเบื้องหน้า   (ปุรัตถิม)  มารดา บิดา
2.ทิศเบื้องขวา    (ทักษิณ)  ครู อาจารย์
3.ทิศเบื้องหลัง   (ปัจฉิม)    บุตร ภรรยา
4.ทิศเบื้องซ้าย   (อุตตร)     มิตร
5.ทิศเบื้องต่ำ     (เหฏฐิม)   คนงาน
6.ทิศเบื้องบน     (อุปริม)     สมณะ

ทิศเบื้องหน้า
(ลูกจะต้องปฏิบัติพ่อแม่ 5)
1.ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว ต้องเลี้ยงท่านตอบแทน
2.รับทำธุระกิจของท่าน
3.รักษาชื่อเสียงของวงค์สกุล
4.ทำตนให้ควรแก่การรับมรดก
5.เมื่อท่านล่วงลับ ต้องทำบุญอุทิศให้ท่าน

(พ่อแม่ต้องอนุเคราะห์ลูก 5)
1.ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
2.ให้ทำแต่ความดี
3.ส่งเสริมให้ศึกษาเล่าเรียน
4.หาภรรยาที่ดีให้
5.มอบทรัพย์ให้ในโอกาสอันควร

ทิศเบื้องขวา
(ศิษย์ต้องปฏิบัติครู อาจารย์ 5)
1.ด้วยลุกขึ้นยืนต้อนรับ
2.ด้วยเข้าไปคอยรับใช้
3.ด้วยการเชื่อฟังคำสั่งสอน
4.ด้วยการปรนนิบัติท่าน
5.ด้วยการเล่าเรียนโดยเคารพ

(ครู อาจารย์ต้องอนุเคราะห์ศิษย์ 5)
1.แนะนำดี
2.ให้เรียนดี
3.ไม่บิดบังวิชาความรู้
4.ยกย่องในหมู่เพื่อนฝูง
5.ทำความป้องกันในที่ต่าง ๆ

ทิศเบื้องหลัง
(สามีต้องปฏิบัติภรรยา 5)
1.ด้วยการยกย่องว่าเป็นภรรยา
2.ด้วยไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม
3.ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ
4.ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้
5.ด้วยให้เครื่องแต่งตัว

(ภรรยาต้องปฏิบัติต่อสามี 5)
1.จัดการงานในบ้านเรือนดี
2.สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี
3.ไม่ประพฤตินอกใจสามี
4.รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้
5.ไม่เกียจคร้านในการงานทุกสิ่ง

ทิศเบื้องซ้าย
(มิตรต้องปฏิบัติต่อมิตร 5)
1.ด้วยการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน
2.ด้วยการเจรจาถ้อยคำไพเราะ
3.ด้วยการทำประโยชน์ให้เพื่อน
4.ด้วยการวางตนเสมอ
5.ด้วยการไม่พูดเท็จต่อเพื่อน

(มิตรต้องตอบแทนมิตร 5)
1.รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
2.รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
3.เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งอาศัยได้
4.ไม่ทอดทิ้งในยามวิบัติขัดสน
5.นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

ทิศเบื้องต่ำ
(นายงานต้องปฏิบัติต่อคนงาน 5)
1.ด้วยจัดงานให้ทำตามกำลัง
2.ด้วยให้อาหารและรางวัล
3.ด้วยการรักษาในยามเจ็บไข้
4.ด้วยแจกของที่มีรสแปลกให้กิน
5.ด้วยการปลดปล่อยบางโอกาส

(คนงานต้องปฏิบัติต่อนายงาน 5)
1.ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย
2.เลิกการงานทีหลังนาย
3.ถือเอาแต่ของที่นายให้
4.ทำการงานให้ดียิ่งขึ้น
5.นำคุณของนายไปสรรเสริญ

ทิศเบื้องบน
(บุคคลต้องปฏิบัติต่อสมณะ 5)
1.ทางกาย คือจะกระทำอะไร ๆ ต้องทำด้วยเมตตา
2.ทางวาจา คือจะพูดอะไร ๆ ต้องพูดด้วยเมตตา
3.ทางใจ คือจะคิดอะไร ๆ ต้องคิดด้วยเมตตา
4.ด้วยไม่ปิดประตู คือยินดีต้อนรับ
5.ต้องอุปถัมภ์ด้วยอามิสสิ่งของ

(สมณะต้องอนุเคราะห์บุคคล 6)
1.ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
2.ให้ทำแต่ความดี
3.อนุเคราะห์ด้วยจิตเมตตา
4.ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
5.ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
6.บอกทางสวรรค์ให้
     เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงความหมายของทิศ 6 จบลง สิงคาลกะมีความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนไตรเป็นที่พึ่ง ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต


อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...