วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

ห้ามภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์

     สมัยนั้น ปุ่มไม้แก่นจันทร์มีราคามาก ราชคหเศรษฐีมี ปุ่มไม้แก่นจันทร์อยู่ท่อนหนึ่ง ประสงฆ์จะทำทานด้วยบาตรปุ่มไม้แก่นจันทร์ จึงให้ช่างกลึงเป็นบาตร เมื่อทำเสร็จได้เอาใส่สาแหลกผูกไว้ปลายไม้ไผ่ แล้วผูกต่อ ๆกันขึ้นไปจนสูง ประกาศว่า
     "สมณะหรือนักบวชผู้ใด เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงเหาะขึ้นไปปลดเอาบาตรปุ่มไม้แก่นจันทร์ลูกนี้ไปเถิด"
     ฝ่ายปูรณะกัสสป ได้เข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐี แล้วกล่าวว่า
     "ท่านคหบดี ! อาตมานี่แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ขอท่านจงให้บาตรแก่อาตมาเถิด"
     ท่านเศรษฐีตอบว่า "ท่านเจ้าข้า ! ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์จริง ก็จงปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั่นแลไปเถิด"
     ต่อมา ท่านมักขลิโคสาล ท่านอชิตเกสกัมพล ท่านปกุธกัจจายนะ ท่านสัญชัยเวลัฏฐบุตร ท่านนิครนถ์นาฏบุตร รู้ข่าวก็ได้เข้าไปหาท่านเศรษฐี ขอบาตรเช่นเดียวกับท่านปูรณะกัสสป ท่านเศรษฐีก็บอกว่าให้เหาะขึ้นไปเอาเองเถิด ก็ไม่มีใครเหาะได้
     วันหนึ่ง พระโมคคัลลานะกับพระปิณโฑลภารทวาชะ ได้ไปบิณฑบาตผ่านบ้านเศรษฐี ทราบประกาศแล้ว พระปิณโฑลภารทวาชะ กล่าว่า
     "ท่านโมคคัลลานะ ! ท่านจงขึ้นไปปลดเอาบาตรนั้นลงมาเถิด บาตรนั้นจะเป็นของท่าน"
     พระโมคคัลลานะก็เกี่ยง ให้พระปิณโฑล์ขึ้นไปปลดเอาเถิด พระปิณโฑล์จึงเหาะขึ้นไปปลดเอาบาตรปุ่มไม้แก่นจันทร์ แล้วถือบาตรนั้นเหาะรอบเมืองราชคฤห์ 3 รอบ แล้วจึงลงมา
     ราชคฤห์เศรษฐีพร้อมกับบุตรและภรรยา ยืนดูอยู่ในบ้านและเห็นตลอด จึงประคองอัญชลีนมัสการ ร้องนิมนต์ว่า
     "ท่านเจ้าข้า ! ขอพระคุณเจ้าปิณโฑลภารทวาชะ นิมนต์มาที่เรือนของกระผมเถิด"
     เมื่อพระปิณโฑล์มาถึงเรือน ท่านเศรษฐีได้รับบาตรของท่าน และจัดของเคี้ยวมีค่ามากถวายท่าน แล้วกลับไปสู่อารามชาวบ้านได้ทราบข่าว พระปิณโฑล์เหาะขึ้นไปปลดบาตรเศรษฐีต่างส่งเสียงอึกทึกเกรียวกราว เดินตามพระปิณโฑล์ไปจนถึงวัด
     พระพุทธองค์ทรงสดับเสียงเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามพระอานนท์ว่า
     "อานนท์ ! นั่นเสียงอึกทึกเกรียวกราว เกิดเรื่องอะไรกัน?"
     พระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องพระปิณโฑล์ เหาะขึ้นไปเอาบาตรปุ่มไม้แก่นจันทร์ของเศรษฐีโดยตลอด
     พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่งประชุมสงฆ์ แล้วตรัสถามพระปิณโฑล์
     "ภารทวาชะ ! ข่าวว่าเธอเหาะขึ้นไปปลดบาตรของเศรษฐีลง จริงหรือ?"
     "จริง พระพุทธเจ้าข้า"
     "ภารทวาชะ ! การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ 
     ไฉนเธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ ซึ่งเป็นดุจซากศพเล่า มาตุคามแสดงของลับ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ ซึ่งเป็นดุจซากศพแม้ฉันใด
     เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ ซึ่งเป็นดุจซากศพ
     การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส"
     ครั้นทรงตำหนิการกระทำของพระปิณโฑล์เป็นอันมากแล้ว จึงรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยิ่งยวดของมนุษย์แก่พวกคฤห้สถ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฎ"
     ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงทำลายบาตรไม้นั่น บดให้ละเอียด แล้วใช้เป็นยาหยอดตาของภิกษุทั้งหลาย
     อนึ่ง ภิกษุไม่พึงใช้บาตรไม้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฎ"

ขยายความ พระปิณโฑลภารทวาชะ ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วยังถูกพระพุทธองค์ทรงตำหนิอย่างมากมาย และเป็นต้นบัญญัติมิให้พระแสดงฤทธิ์ แม้เป็นของที่มีจริง
ปล.พระปิณโฑลภารทวาชะ จัดเป็นผู้มีฤทธิ์รองจากพระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า)เท่านั้น

     ในเมืองไทย มีภิกษุหลายรูปประกาศว่า เป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้นชั้นนี้บ้าง บ้างก็อ้างว่าติดต่อพูดคุยกับพระอินทร์ เทวดา หรือ พญายมราช บ้างก็ว่าได้ฌานชั้นนั้นชั้นนี้ ไม่น่าจะเอาคุณวิเศษที่พระพุทธเจ้าห้าม มาเป็นเครื่องล่อให้ประชาชนเลื่อมใสตนและสำนักของตนด้วยอุบายอันลามกเช่นนี้ เพราะเสี่ยงต่อการขาดจากความเป็นพระมากเกินไป
     ถ้าอวดคุณวิเศษที่ไม่มีจริง ก็เป็นปาราชิก ถ้าอวดในสิ่งที่ มีจริงก็ปรับอาบัติปาจิตตีย์และทุกกฎ คือผิดทั้งขึ้นและล่อง




















วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

ห้ามเรียนและสอนดิรัจฉานวิชา

     "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉานวิชา รูปใดเรียนต้องอาบัติทุกกฎ"
     "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉานวิชา รูปใดสอนต้องอาบัติทุกกฎ"

 ขยายความ ดิรัจฉานวิชา คือความรู้ที่ขวางต่อทางบรรลุพระนิพพาน เช่น รู้ในการทำเสน่ห์ รู้ในการทำให้คนถึงวิบัติ รู้เรื่องภูติผี รู้ในทางทำนาย เช่นหมอดูเป็นต้น
     ทรงห้ามทั้งการเรียน การสอน และการประกอบ แต่พึงทราบว่าทรงห้ามแต่ภิกษุเท่านั้น มิได้ห้ามชาวบ้าน

ห้ามเขียนภาพสตรีและบุรุษไว้ข้างฝา
     "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงให้เขียนภาพสตรีและบุรุษ (ไว้ในที่อยู่) รูปใดเขียนต้องอาบัติทุกกฎ เราอนุญาตภาพดอกไม้ ภาพเครือเถา ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ "

ขยายความ ในปัจจุบันน่าจะสงเคราะห์ ภาพถ่ายชายหญิงที่สวยงาม ภาพดาราในปฏิทินเข้าด้วย ภาพชนิดใดก็ตาม ถ้าเห็นแล้วทำให้เกิดความกำหนัดยินดีในกามคุณทั้ง 5 ภาพเหล่านั้นย่อมไม่ควรแก่ภิกษุทั้งสิ้น
ห้ามนอนเตียงเดียว ห่มผ้าผืนเดียวกัน
     "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงนอนร่วมเตียงเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเครื่องลาดเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมผ้าห่มผืนเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเครื่องลาด และผ้าห่มผืนเดียวกัน รูปใดนอนหรือห่ม ต้องอาบัติทุกกฎ"

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

ภิกษุผู้ถือหรือไม่ต้องถือนิสัย

     "ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ ถือนิสัยอยู่ 5 พรรษา และให้ภิกษุผู้ไม่ฉลาด ผู้ไม่สามารถ ถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต"

ภิกษุผู้ต้องถือนิสัย
     1.เป็นผู้ไม่มีศรัทธา
     2.เป็นผู้ไม่มีหิริ
     3.เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ
     4.เป็นผู้เกียจคร้าน
     5.เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน

อีกหมวดหนึ่ง
     1.เป็นผู้วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล
     2.เป็นผู้วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาร
     3.เป็นผู้วิบัติด้วยทิฐิ
     4.เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
     5.เป็นผู้มีปัญญาทราม 

อีกหมวดหนึ่ง
     1.ไม่รู้จักอาบัติ
     2.ไม่รู้จักอนาบัติ
     3.ไม่รู้จักอาบัติเบา
     4.ไม่รู้จักอาบัติหนัก
     5.จำปาติโมกข์ไม่ได้

ห้ามไว้ผมยาว

     "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ต้องอาบัติทุกกฎ
       ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้ไว้ผมได้สองเดือน หรือยาวสององคุลี"

ห้ามส่องดูเงาหน้า

     "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงดูเงาหน้าในแว่น (กระจก) หรือภาชนะน้ำ รูปใดดูต้องอาบัติทุกกฎ"

ห้ามสวดพระธรรมด้วยทำนอง

"ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ มีโทษ 5 คือ
     1.ตนยินดีในเสียงนั้น
     2.คนอื่นก็ยินดีในเสียงนั้น
     3.ชาวบ้านติเตียน
     4.สมาธิของผู้พอใจการทำเสียงย่อมเสียไป
     5.ภิกษุชั้นหลังจะถือเป็นเยี่ยงอย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงสวดพระธรรม ด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ รูปใดสวดต้องอาบัติทุกกฎ"
ห้ามตัดองค์กำเนิด
     ภิกษุรูปหนึ่ง ถูกความกระสันเบียดเบียน จึงได้ตัดองค์กำเนิดของตนเสียภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระพุทธองค์ จึงทรงบัญญัติว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! โมฆบุรุษนั้น เมื่อสิ่งที่จะพึงตัดอย่างอื่นยังมี ไพล่ไปตัดเสียอีกอย่าง ภิกษุไม่พึงตัดองค์กำเนิดของตน รูปใดตัด ต้องอาบัติถุลลัจจัย"

ห้ามเปลือยกาย
     "ภิกษุทั้งหลาย ! 
     ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึงไหว้ภิกษุเปลือยกาย
     ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึงให้ภิกษุเปลือยกายไหว้ตน
     ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึงให้ภิกษุไม่เปลือยกายไหว้ตน
     ไม่พึงเปลือยกายทำบริกรรมแก่ภิกษุเปลือยกาย
     ไม่พึงใช้ภิกษุเปลือยกายทำบริกรรม
     ไม่พึงเปลือยกายให้ของแก่ภิกษุเปลือยกาย
     ไม่พึงเปลือยกายรับประเคน
     ไม่พึงเปลือยกายเคี้ยวของ
     ไม่พึงเปลือยกายฉันอาหาร
     ไม่พึงเปลือยกายลิ้มรส
     ไม่พึงเปลือยกายดื่ม
     รูปใดดื่ม ต้องอาบัติทุกกฎ"

พุทธานุญาตให้รับของหอมและดอกไม้
     "ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้รับของหอม แล้วเจิมไว้ที่ บานประตูหน้าต่าง ให้รับดอกไม้ แล้ววางไว้ในส่วนข้างหนึ่งในวิหาร"

ห้ามฉันในภาชนะเดียวกัน
     "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงฉันร่วมภาชนะเดียวกัน ไม่พึงดื่มร่วมขันใบเดียวกัน รูปใดฉันและดื่ม ต้องอาบัติทุกกฎ "






















อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...