วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

คุณของอานาปานสติ

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันเมืองเวสาลี ได้ตรัสคุณของ อานาปานสติ แก่ภิกษุทั้งหลายไว้ดังนี้
   "ภิกษุทั้งหลาย ! แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แล อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้วย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน ดุจละอองแห่งฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้น ๆ ให้อันตรธารสงบไปได้โดยฉับพลัน ฉะนั้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็นอยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธารสงบไปโดยฉับพลัน
     ภิกษุทั้งหลาย !ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณ โคนไม้ก็ตามอยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังค์ตั้งกายตรง ดำรงสติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน
     ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกว่าหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจออกสั้น
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปิติหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งปิติหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับจิตสังขารหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิงหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยงหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจออก
     ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะหายใจออก
     ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธารสงบไปได้โดยฉับพลัน"

     หมดบทความเรื่องพระไตรปิฎก ภาคพระวินัย จากหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับสาระแล้วครับ ซึ่งจัดทำโดยธรรมรักษา ซึ่งไม่สงวนลิขสิทธิ์ ผมเห็นว่าดีเลยนำมาเสนอ ทุกท่าน โดยนั่งพิมพ์มาเรื่อย ๆ ขอบคุณที่ติดตามครับ

















วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

องค์แห่งการคว่ำบาตร

"ภิกษุทั้งหลาย ! สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสก ผู้ประกอบด้วยองค์ 8 คือ

     1.ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
     2.ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย
     3.ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
     4.ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย
     5.ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
     6.กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
     7.กล่าวติเตียนพระธรรม
     8.กล่าวติเตียนพระสงฆ์

ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้คว่ำบาตร แก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ 8 นี้"


ขยายความ การคว่ำบาตร เป็นการบอกงดการเกี่ยวข้อง กับ ผู้นั้นโดยประการทั้งปวง ถ้าผู้ถูกสงฆ์คว่ำบาตร เกิดสำนึกผิดขอขมาโทษ สงฆ์ก็จะประชุมประกาศ "หงายบาตร" ให้

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559

บุคคลที่ไม่ควรไหว้ 10

      1.ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง
     2.ไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน (ผู้ที่ไม่ได้เป็นภิกษุ หมายถึง สามเณร และคฤหัสถ์)
     3.ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที (สงฆ์ผู้ไม่ร่วมสังวาส คือไม่ร่วมอุโบสถและสังฆกรรมด้วยกัน เรียกว่าเป็นนานาสังวาส)
     4.ไม่ควรไหว้มาตุคาม (ผู้หญิง)
     5.ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์ (อ่านว่าบันเดาะ แปลว่ากะเทย)
     6.ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อยู่ปริวาส (การอยู่ค้างคืน การอยู่แรมคืน ชื่อกรรมที่ภิกษุต้อง อาบัติสังฆาทิเสสต้องประพฤติ)
     7.ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม
     8.ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรมานัต ( วินัยกรรมที่สงฆ์ทําแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสให้เป็นภิกษุ ที่นับเข้าในหมู่สงฆ์ได้)
     9.ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ประพฤติมานัต
   10.ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรอัพภาน (การชักกลับมา ในวินัยหมายถึง การรับภิกษุผู้ต้อง อาบัติสังฆาทิเสส และได้ถูกทําโทษคือ อยู่ปริวาสแล้วให้กลับคืน เป็นผู้บริสุทธิ์)

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

ศีล 10 ของสามเณร

ผู้ที่บวชเป็นสามเณร ต้องรักษาศีล 10 ข้อ คือ

     1.เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป
     2.เว้นจากการถือเอาพัสดุที่เจ้าของเขามิได้ให้
     3.เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์
     4.เว้นจากการกล่าวเท็จ
     5.เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย
     6.เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
     7.เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
     8.เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
     9.เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงและใหญ่

   10.เว้นจากการรับทองและเงิน

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...