วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560

อาหารของนิวรณ์ 5

     ภิกษุทั้งหลาย ! กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด
     นิวรณ์ 5 ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ศุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มาก ซึ่งอโยนิโสมนสิการในศุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้กามฉันท์ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้พยาบาทที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำได้มาก ซึ่ง อโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้พยาบาท ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร ความที่ใจหดหู่ มีอยู่ การกระทำให้มาก ซึ่งอโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ถีนมิทธะ ที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
      ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่สงบใจมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ ในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
      ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
     ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้ง แห่งวิจิกิจฉา มีอยู่ การกระทำให้มาก ซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้วิจิกิจฉา ที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น

ขยายความ นิวรณ์ 5 คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และ วิจิกิจฉา
     กามฉันท์ คือ ความรักใคร่พอใจในอารมณ์ที่ชอบใจ รูป เสียง ฯ เป็นต้น
     พยาบาท คือ ความคิดร้าย ความปองร้าย
     ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่และเซื่องซึม ความง่วงเหงาซึมเซา
     อุทธัจจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านและรำคาญ ความฟุ้งซ่านและความเดือดร้อนใจ
     วิจิกิจฉา คือ ความลังเลไม่ตกลงได้ ความไม่แน่ใจ ความสงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน
     ศุภนิมิต คือความเห็นว่าเป็นของสวยงาม เป็นเหตุให้เกิดความกำหนัด
     อโยนิโสมนสิการ คือ กระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย
     ปฏิฆะ คือ ความขัดใจ แค้นเคือง ความขึ้งเคียด ความกระทบกระทั่งแห่งจิต
     นิวรณ์ 5  เป็นอุปสรรคของความก้าวหน้า ทั้งในทางโลกและทางธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ฝึกปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา ถ้ากำจัดนิวรณ์ไม่ได้ จะปฏิบัติธรรมไม่ได้เลย

      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...