วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

สิ่งที่ทรงแสดงมาก

     พระอานนท์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว พึงเป็นผู้ ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด”
     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
     “อานนท์ ! เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
     พระอานนท์กราบทูลว่า
     “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
     อ.  “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นของธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ?
     อ.  “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
     พ.  “รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
     อ.  “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
     อ.  “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นของธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั้นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ?
     อ.  “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
     พ.  “จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
     อ.  “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
     อ.  “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นของธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ?
     อ.  “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
     พ.  “ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
     อ.  “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
     อ.  “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นของธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ?
     อ.  “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
     พ.  “มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
     อ.  “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
     อ.  “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
     พ.  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นของธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา”
     อ.  “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
     พ.  “อานนท์ ! อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย....
     ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย
     เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ หลุดพ้นแล้วรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก”

ขยายความ พระธรรมเทศนาแนวนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงมาก และผู้ฟังจบแล้วส่วนมากได้บรรลุธรรมในทันที เพราะเป็นการแสดงจากของจริง โดยจี้ลงไปแต่ละจุดจนเกิดความกระจ่างหรือเกิดความสว่างในทางจิต เช่น
     ทรงแสดงถึงตา สิ่งที่คู่กับตาคือรูป และอายตนะสิ่งที่เชื่อมระหว่างตากับรูป พร้อมทั้งวิญญาณคือความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเวทนา คือถ้าชอบก็เกิดสุขเวทนา ถ้าไม่ชอบก็เกิดทุขเวทนา ถ้าเฉย ๆ ก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา
     ถ้าอ่านหรือฟังธรรมะ แล้วเข้าใจความในเรื่องนั้น ๆ ดี จะรู้สึกสนุก ไม่เบื่อ และเมื่อศึกษามาก ก็จะเร่งเร้าให้อยากปฏิบัติตามด้วย
     การศึกษาธรรมะทุกประเภท ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามบ้าง ต่อไปจะเกิดความเซ็ง ได้ยินใครพูดถึงธรรมะ จะเกิดความเอือมระอาทันที
     ถ้าจะไปเปรียบ การอ่าน การฟังธรรมะ เหมือนการอมถั่ว ยิ่งอมไว้มากก็มีแต่ทำให้แก้มตุ่ย แต่ไม่รู้รสของถั่ว นั่นก็คือไม่เกิดความมัน อันเกิดจากถั่วนั้น
     ส่วนผู้ที่ศึกษาธรรมะ ด้วยการอ่านหรือการฟัง แล้วนำไปปฏิบัติด้วย เปรียบเหมือนอมถั่ว (ปริยัติ) และเคี้ยวถั่ว (ปฏิบัติ)
นั้นด้วย ได้รับรสของถั่ว และได้รับประโยชน์จากถั่ว (ปฏิเวธ) ด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น
    







      


อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...