วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

พระวัชชีบุตรแสดงวัตถุ 10

      1.   เก็บเกลือไว้ในเขนงฉัน ควร
     2.   ฉันอาหารในเวลาบ่าย ล่วงสององคุลี ควร
     3.   เข้าบ้านฉันอาหารเป็น อนติริตตะ ควร
     4.   อาวาส มีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่าง ๆ กัน ควร
     5.   เวลาทำสังฆกรรม ภิกษุมาไม่พร้อมกันทำก่อนได้ ภิกษุมาทีหลังจึง บอกขออนุญาต ควร
     6.   การประพฤติตามอย่าง ที่อุปัชฌาย์และอาจารย์ ประพฤติมาแล้ว ควร
     7.   ฉันนมสดที่แปรแล้ว แต่ยังไม่เป็นนมส้ม ควร
     8.   ดื่มสุราอ่อน ควร
     9.   ใช้ผ้านิสีทนะไม่มีชาย ควร
     10. รับทองและเงิน ควร

ขยายความ  วัตถุทั้ง 10 ข้อนี้ โปรดทราบว่า เป็นการตีความพระวินัยฝ่ายย่อหย่อนหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 100 ปี พระยสกากัณฑกบุตร ได้ชี้แจงว่าวัตถุ 10 ประการ ที่พระวัชชีบุตรเป็นต้นคิดนี้ ผิดพระวินัยไม่ควรปฎิบัติ

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทรงอนุญาตไม้ชำระฟัน

     สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่เคี้ยวไม้ชำระฟัน ปากจึงมีกลิ่นเหม็น พระพุทธเจ้าจึงตรัสโทษของการไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันไว้ 5 ประการ คือ
     1.นัยน์ตาไม่แจ่มใส
     2.ปากมีกลิ่นเหม็น
     3.ลิ้นรับรสอาหารไม่บริสุทธิ์
     4.ดีและเสมหะหุ้มห่ออาหาร
     5.ไม่ชอบฉันอาหาร
     "ภิกษุทั้งหลาย ! การเคี้ยวไม้ชำระฟัน มีอานิสงศ์ 5 ประการนี้ คือ
     1.นัยน์ตาแจ่มใส
     2.ปากไม่มีกลิ่นเหม็น
     3.ลิ้นรับรสอาหารบริสุทธิ์
     4.ดีและเสมหะไม่หุ้มห่ออาหาร
     5.ชอบฉันอาหาร
     การเคี้ยวไม้ชำระฟัน มีอานิสงส์ 5 ประการนี้แล เราอนุญาตไม้ชำระฟัน"

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

ห้ามพระฉันอาหารที่ไม่มีผู้ให้

     
 พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลาป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ครั้งนั้นภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้มีปกติถือของทุกอย่างเป็นบังสุกุล สำนักอยู่ในสุสานประเทศ ท่านไม่ปราถนาจะรับอาหารที่ประชาชนถวาย เที่ยวถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าตามป่าช้าบ้าง ตามโคนไม้บ้าง ตามธรณีประตูบ้าง มาฉันเอง
     ประชาชนต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ว่าไฉนภิกษุนี้ จึงได้ถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้า ของพวกเราไปฉันเล่า ภิกษุนี้อ้วนล่ำ บางทีจะฉันเนื้อมนุษย์กระมัง ?
     ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนพวกนั้น พากันเพ่งโทษติเตียนและโพนทะนาอยู่ บรรดาท่านที่เป็นผู้มักน้อยมีความละอายต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่าไฉนภิกษุได้กลืนอาหาร ที่เขายังไม่ได้ให้ให้ล่วงช่องปากเล่า...
     ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงสอบสวนภิกษุรูปนั้น เธอได้ให้คำตามเป็นจริงแล้วทรงติเตียนว่า
     "ดูก่อนคนเปล่า ! ไฉนเธอจึงได้กลืนอาหาร ที่เขายังไม่ได้ให้ ให้ล่วงช่องปากเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว..."
     ครั้นแล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุกลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก ต่อมาทรงอนุญาตน้ำและไม้สีฟันเพียงสองอย่างเท่านั้น ที่ไม่ต้องมีผู้ให้ก็หยิบฉันและใช้เองได้

ขยายความ ปัญหาเรื่องพระฉันอาหาร ที่ไม่มีผู้ให้ หรือยังไม่ได้รับประเคนนั้น เป็นข้อที่ควรยกมาพิจารณากัน จึงได้ยกต้นบัญญัติมาลงไว้เต็มรูป ว่ามีเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในวินัยมุขเล่ม 1 ก็อธิบายไว้เพียงนิดเดียว
     ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ล้วนเป็นเรื่องการตีความเอาเอง ถ้าใครเป็นคนเจ้าระเบียบ ก็จะตีความหยุมหยิม จุกจิก จนเกิดความวุ่นวายในที่สุด ส่วนตนมักง่าย จะไม่เอาใจใส่เสียเลยถือว่าเป็นของเรา หรือชาวบ้านให้แล้วไม่จำเป็นต้องประเคนอีก แม้จะข้ามคืนก็ตาม แล้วผลเป็นอย่างไร ?
     ทั้งฝ่ายตึงฝ่ายหย่อน ก็ตั้งเป็นข้อรังเกียจซึ่งกันและกัน ด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน ด้วยศีลที่ไม่เสมอกัน จนในที่สุดต้องแยกกัน  หรือถ้าขืนอยู่ด้วยกันก็ไม่สามัคคีกัน แล้วอย่างไร จึงจะถือว่าพอดีไม่เกินไม่ขาด?
     เห็นจะต้องพบกันครึ่งทางกระมัง คือเดินสายกลาง ที่ประกอบด้วยปัญญา คือไม่ตึงจนขาด และไม่หย่อนจนยาน นั่นก็คือศึกษาดูความมุ่งหมาย ของสิกขาบทนั้น ๆ ว่ามีเป้าหมายอย่างไร ถ้าตีความไม่ลงอย่ามีทิฐิ ควรปรึกษาท่านผู้รู้บ้าง
     สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือชาวบ้าน ที่ภิกษุอาศัยเลี้ยงปากท้องอยู่นั่นเอง ถ้าชาวบ้านรังเกียจแล้ว ก็ไม่ควรทำ แต่ควรจะชี้แจงความจริงให้เขารู้พระวินัย ถ้าพออนุโลมกันได้ ก็อนุโลมกันไปก่อน ถ้าเห็นว่าจะเสียรูปแบบของพระมากไป ก็ควรจะพิจารณา ว่าเราสมควรจะอยู่ในสถานที่นั้นต่อไปหรือไม่
     ข้อสำคัญอย่าลืม ว่าเราบวชอุทิศพระพุทธเจ้า อย่าได้เหยียบย่ำ ล้มล้าง บิดเบือน เปลี่ยนแปลงพระวินัย เอาตามใจตนเอง หรือเห็นแก่ชาวบ้าน เอาใจชาวบ้านเป็นอันขาด เดี๋ยว จะกลายเป็นขบถต่อพระพุทธเจ้าไป นรกจะกินหัวผุ

          

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

เหตุที่ห้ามพระดื่มสุรา

      พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เจติยชนบท ในระหว่างเสด็จ จาริกไปทางตำบลบ้านรั้วงาม ท่ามะม่วง ครั้งนั้นพระสาคตะได้เดินทางไปท่ามะม่วง แวะที่อาศรมของชฏิลเข้าไปพักในโรงบูชาไฟของพวกชฏิล
     ในโรงบูชาไฟนี้ เป็นที่อยู่ของนาคมีพิษร้าย มื่อเห็นพระสาคตะเข้ามานั่งอยู่ในที่พัก จึงเกิดความขัดเคือง พ่นพิษเข้าใส่พระสาคตะทันที พระสาคตะจึงเข้าเตโชสมาบัติ บันดาลไฟต้านทานไว้ นาคสู้จนหมดฤทธิ์จึงยอมแพ้
     ชาวบ้านรู้ว่าพระสาคตะปราบนาคร้ายได้ จึงเลื่อมใสพากันกราบไหว้จะหาของที่ถูกใจมาถวาย พระท้องถิ่นแนะว่า ให้เอาสุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบถวาย จึงจะได้บุญมาก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนำสุรามาถวาย พระสาคตะดื่มสุราฉลองศรัทธาหลายครัวเรือนจนเมาไม่ได้สติ ล้มกลิ้งอยู่หน้าประตูเมืองโกสัมพี
     ขณะนั้น พอดีพระพุทธองค์เสด็จมาถึง เห็นพระสาคตะนอนกลิ้งอยู่ จึงทรงให้หมู่ภิกษุช่วยกันหามพระสาคตะไปสู่อาราม ให้นอนหันศรีษะไปทางพระพุทธเจ้า แต่พระสาคตะได้พลิกกลับเอาทางเท้าไปทางพระพุทธองค์ เพราะขาดสติด้วยฤทธิ์ของสุรา พระพุทธองค์รับสั่งถามพวกภิกษุว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! สาคตะได้ต่อสู้จนชนะนาคร้าย ที่ท่ามะม่วง มามิใช่หรือ ?"   
     "ชนะมาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า"   
     "ภิกษุทั้งหลาย ! แล้วเดี๋ยวนี้สาคตะจะสู้แม้เพียงกับงูน้ำได้หรือไม่ ?"     
     "ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า"   
     "ภิกษุทั้งหลาย ! น้ำที่คนดื่มเข้าไปแล้วทำให้สติขาดนั้น สมควรจะดื่มหรือไม่"    
     "ไม่ควรดื่ม พระพุทธเจ้าข้า"    
      ทรงตำหนิการกระทำของพระสาคตะเป็นอันมาก แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุดื่มสุราและเมรัย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 
    

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

จะสอนพระต้องมีอุบาย

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันเมืองสาวัตถี ครั้งนั้นพระหมู่หนึ่งกำลังเล่นน้ำในแม่น้ำอจิรวดีกันอยู่ อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน ขณะนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่บนปราสาทชั้นบน กับพระนางมัลลิกาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสว่า
     "นี่แนะแม่มัลลิกา ! นั่นพระกำลังเล่นน้ำกันอยู่มิใช่หรือ ?"
     "ขอเดชะ ชะรอยพระผู้มีพระภาค จะยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท หรือภิกษุเหล่านั้นจะยังไม่สันทัดในพระวินัยเป็นแน่พระพุทธเจ้าข้า"
     พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรำพึงว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ พระพุทธองค์จะทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านี้เล่นน้ำ
     เมื่อทรงคิดอุบายได้แล้ว จึงรับสั่งให้นิมนต์พวกภิกษุที่เล่นน้ำมา แล้วพระราชทานน้ำอ้อยงบใหญ่ ให้ไปถวายพระพุทธองค์
     เมื่อพระพุทธองค์ ได้ทรงรับงบน้ำอ้อยจากพวกภิกษุ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงฝากไปถวายแล้ว ทรงถามภิกษุเหล่านั้นว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! ก็พระเจ้าแผ่นดินพบพวกเธอที่ไหนเล่า จึงได้ฝากงบน้ำอ้อยมา ? "
     "ทรงพบพวกข้าพระพุทธเจ้า ขณะที่กำลังเล่นน้ำกันอยู่ ในแม่น้ำอจิรวดีพระพุทธเจ้าข้า"
     ทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นเป็นอันมาก แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุว่ายน้ำเล่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ขยายความ
     สาระเรื่องนี้ ให้แง่คิดแก่ชาวพุทธว่า การที่ฆราวาสผู้มีจิตปราถนาดี จะคิดสั่งสอนนักบวชคือพระนั้นควรจะต้องมีอุบาย คือใช้ปัญญาพิจารณาว่า อย่างไรจึงจะเหมาะจะควร
     จะได้ไม่เกิดความเสียใจภายหลังว่า ทำดีแต่ได้ชั่ว กล่าวคือ บางคนเห็นพระทำผิดศีลผิดธรรม แทนที่จะใช้อุบายอันประกอบไปด้วยจิตเมตตา ก็เอาไปโพนทะนากับชาวบ้าน หรือลงหนังสือพิมพ์ไปเลย แทนที่จะเป็นการแก้ ก็กลายเป็นการประจานกันไปเลย
     ดังนั้น ก่อนที่เราจะตำหนิติเตียนพระเณรนั้น เราควรจะตั้งจิตให้มีเมตตาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่พระศาสนาก่อน การกระทำนั้น ๆ จึงจะเป็นที่สรรเสริญของคนดี


   

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทรงอนุญาตน้ำอัฎฐบาน

     พระพุทธเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนิน ผ่านระยะทางถึง อาปณนิคม เมื่อเกณิยชฏิลทราบข่าวว่า พระพุทธองค์จะเสด็จผ่าน จึงดำริว่า
     "เราจะเอาอะไรไปถวายพระสมณโคดมดีหนอ ?"
     เมื่อระลึกถึงพวกฤษีต่าง ๆ ผู้เว้นการฉันในราตรี แต่ยินดีฉันน้ำปานะ แม้พระพุทธองค์ก็เว้นการเสวยในราตรี งดเสวยในเวลาวิกาล ก็ควรจะยินดีเสวยน้ำปานะเช่นเดียวกัน
     จึงจัดสั่งให้ทำน้ำปานะเป็นอันมาก ให้คนหามไปพุทธสำนักแล้วกราบทูลว่า
     "ขอท่านพระโคดมโปรดทรงรับน้ำปานะ ของข้าพระพุทธเจ้า"
     พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้ถวายแก่สงฆ์ และรับสั่งแก่สงฆ์ ต่อไปว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตน้ำปานะ 8 ชนิด คือ"
     1.น้ำปานะที่ทำด้วยผลมะม่วง
     2.น้ำปานะที่ทำด้วยผลหว้า
     3.น้ำปานะที่ทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด
     4.น้ำปานะที่ทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด
     5.น้ำปานะที่ทำด้วยผลมะทราง
     6.น้ำปานะที่ทำด้วยผลจันทร์หรือองุ่น
     7.น้ำปานะที่ทำด้วยเง่าบัว
     8.น้ำปานะที่ทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่
     ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก
     ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง
     ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง
     ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตน้ำอ้อยสด

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

กำเนิดวันพระ

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฎ กรุงราชคฤห์ ในครั้งนั้นพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ คือนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา พอถึงวัน 14 ค่ำ และ 15 ค่ำและ 8 ค่ำ ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม ชาวบ้านต่างพากันไปฟังธรรม ด้วยความเลื่อมใส
     พระเจ้าพิมพิสารทรงดำริว่า การที่นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา ประชุมกันแสดงธรรม  ในวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำและ 8 ค่ำ เป็นที่นิยมและเลื่อมใสของประชาชน ถ้าพระคุณเจ้าทั้งหลาย จะกระทำเช่นนั้นบ้าง ก็จะได้ความรักและความเลื่อมใส  จากชาวบ้านเช่นกัน จึงทรงนำพระดำรินี้ ขึ้นทูลพระพุทธเจ้า
     พระพุทธเจ้าจึงทรงประชุมสงฆ์ แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้ประชุมกัน ในวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ และ 8 ค่ำ แห่งปักษ์"
     ในครั้งนั้น พวกภิกษุประชุมกันแล้ว พากันนั่งนิ่งเฉยหมด ชาวบ้านเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้ว ต่างพากันตำหนิว่า ภิกษุเหล่านี้ประชุมกันในวันพระแล้ว ทำไมจึงนั่งนิ่งเหมือนหมูอ้วนเล่า ธรรมเนียมของภิกษุผู้ประชุมกัน ควรแสดงธรรมมิใช่หรือ ?
     พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงอนุญาตให้มีการแสดงธรรมในวันพระ และต่อมาทรงเห็นว่า ควรจะนำเอาศีลของภิกษุ 227 ข้อ มาแสดงในวัน 14 หรือ 15 ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถ ที่เรียกว่าสวดปาติโมกข์ด้วย จึงเป็นประเพณีแต่นั้นมา

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

พระอรหันต์ยังต้องทำอุโบสถ

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฎ กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพระมหากัปปินเถระ อยู่ในที่สงบสงัดเกิดความคิดว่า
     "เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ควรไป เพราะโดยแท้จริง เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง"
     พระพุทธเจ้าทรงทราบ ความปริวิตกแห่งจิต ของพระมหากัปปินเถรด้วยพระทัยของพระองค์ ได้ทรงหายพระองค์ จากภูเขาคิชกูฎ มาปรากฏพระองค์อยู่ตรงหน้า พระมหากัปปินะ ที่มัททกุจฉิมมฤคทายวัน เปรียบเหมือนคนมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น
     เมื่อทรงแจ้งความปริวิตก ของพระมหากัปปินะ ที่ทรงทราบจนพระมหากัปปินะยอมรับแล้ว จึงตรัสว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะสักการะ เคารพ นับถือและบูชาซึ่งอุโบสถ
      ดูก่อนภิกษุ ! เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้"
     ทรงแสดงธรรมให้พระมหากัปปินะ เห็นแจ้ง อาจหาญ และรื่นเริงแล้ว ทรงหายพระองค์จากมัททกุจฉิมฤคทายวัน มา ปรากฎ ณ ภูเขาคิชกูฎตามเดิม

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

ที่มาของการจำพรรษา

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติ ให้ภิกษุมีการจำพรรษา ภิกษุทั้งหลายจึงเที่ยวจาริกไป ตลอดทั้งฤดูหนาว ฤดูร้อน และ ฤดูฝน ไม่มีการพักผ่อน
     ประชาชนทั้งหลาย ต่างพากันติเตียนเพ่งโทษ พระสมณะเหล่านี้เที่ยวไปทุกฤดู เหยียบย่ำหญ้าอันเขียวสด เป็นการเบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่ง ซึ่งมีชีวะทำให้สัตว์เล็ก ๆ ต้องตายลง
     พวกนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งมีธรรมต่ำทราม ยังหยุดพักตลอดฤดูฝนแม้ฝูงนกก็ยังหยุดพักทำรังบนยอดไม้ ตลอดฤดูฝน แต่พระสมณะเหล่านี้ หาได้หยุดพักในฤดูฝนไม่
     เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุที่เกิดขึ้น จึงประชุมสงฆ์แล้วรับสั่งว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้จำพรรษา

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

จงประกาศพรหมจรรย์

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เมือง พาราณสี ทรงโปรดปัญจวัคคีย์จนได้บรรลุธรรมแล้ว ได้ทรงโปรดพระยศและเพื่อนอีก 4 คน กับเพื่อนที่เป็นชาวชนบทอีก 50 คน รวมในครั้งนั้นมีพระอรหันต์ เกิดขึ้นในโลก 61 องค์
     เมื่อมีพระอรหันต์ 61 รูปชุดแรกแล้ว พระพุทธองค์จึง ทรงส่งพระสาวกเหล่านั้น ไปประกาศธรรม แต่ก่อนที่จะทรง ส่งไป ได้ทรงประทานพระโอวาทเป็นครั้งแรกว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
     พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ 
     พวกเธออย่าได้ไปร่วมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด
     จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี
     ภิกษุทั้งหลาย ! แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม ฯ"

   

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

พระโมคคัลลานะเห็นเปรต

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร เมืองราชคฤห์ วันนั้นเวลาเช้า พระโมคคัลลานะพักอยู่บนเขาคิชฌกูฎ ได้ชวนพระลักขณะไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ขณะที่ทั้งสองท่านกำลังเดินลงจากภูเขาอยู่ พระโมคคัลลานะได้เห็นเปรตชื่อ อัฎฐิสังขลิก จึงได้ยิ้มขึ้นให้ปรากฎ
     พระลักขณะเห็นอาการเช่นนั้น จึงได้ถามท่านว่า
      "ท่านยิ้มทำไม ?"
     พระโมคคัลลานะตอบว่า
     "ผมยังไม่ควรที่จะตอบปัญหานี้ถ้าท่านสนใจ ขอให้ถามเรื่องนี้ต่อพระพักตร์พระพุทธองค์เถิด"
     เมื่อกลับจากบิณฑบาต และฉันเสร็จแล้ว จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระลักขณะได้กราบทูลถวาย ถึงอาการยิ้มของพระโมคคัลลนะ ท่านพระโมคคัลลานะได้ตอบว่า
     "ขณะที่ผมลงจากภูเขาคิชฌกูฎอยู่นั้น ผมได้เห็นอัฎฐิสังขลิกเปตร ซึ่งมีแต่ร่างกระดูกลอยไปในอากาศ ฝูงแร้งเหยี่ยว และนกตระกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่จิกสับโดยแรง จิกทึ้งยื้อแย่งตามช่องซี่โครง สะบัดซึ่งเปตรนั้นอยู่ไปมา เปรตนั้นร้องครวญครางอยู่
     ท่านลักขณะ ! ผมนั้นได้คิดเช่นนี้ว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าประหลาดจริงหนอ ที่สัตว์แม้เห็นปานนี้ ยักษ์แม้เห็นปานนี้ เปรตแม้เห็นปานนี้ การได้อัตภาพแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่..."
     ภิกษุทั้งหลายได้ยินเช่นนั้น ได้พากันตำหนิติเตียนว่า พระโมคคัลลานะพูดอวดคุณวิเศษ จนพระพุทธองค์ต้องรับสั่ง เป็นเชิงรับรองว่า
     "ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกทั้งหลายย่อมเป็นผู้มีจักษุอยู่ ย่อมเป็นผู้มีญาณอยู่เพราะสาวกได้รู้ได้เห็น หรือได้ทำสัตว์เช่นนี้ให้เป็นพยานแล้ว
     ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อกาลก่อนเราได้เห็นสัตว์ (เปรต) นั้น แต่เราไม่ได้พยากรณ์ (กล่าว) ถ้าเราพยากรณ์สัตว์นั้น และคนอื่นไม่เชื่อเรา ข้อนั้นก็จะพึง เป็นไปเพื่อ (บาป) ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เขาเหล่านั้นสิ้นกาลนาน
     ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์ (เปรต) นั้นเคยเป็นคนฆ่าโค อยู่ในกรุงราชคฤห์นี้เองด้วยวิบากกรรมแห่งนั้น เขาหมกไหม้อยู่ในนรกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี แล้วได้ประสบอัตภาพเช่นนี้ ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น แหละที่ยังเป็นส่วนเหลืออยู่
     ภิกษุทั้งหลาย ! โมคคัลลานะพูดจริง โมคคัลลานะไม่ต้อง อาบัติ"

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

ห้ามแสดงฤทธิ์เพื่อปากท้อง

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประมาณ 500 รูป
ครั้งนั้น เกิดข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านอดอยากยากแค้น ต่างล้มตายลงเป็นอันมาก จนแลดูกระดูกคนตายขาวเกลื่อนไปทั่ว ถึงกับต้องมีสลากซื้ออาหาร ฝ่ายภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ก็พลอยอดอยากไปด้วย
     ในฤดูฝนนั้น พวกพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะ ได้มาพักรอให้หมดหน้าฝนพร้อมด้วยม้า 500 ตัว ภิกษุทั้งหลายเมื่อไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชาไม่ได้อาหาร จึงไปบิณฑบาตที่คอกม้า พ่อค้าได้ถวายข้าวแดงสำหรับเลี้ยงม้ารูปละแล่ง
     ภิกษุทั้งหลายได้ข้าวแดงมาแล้ว ได้เอามาใส่ครกโขลก แม้พระพุทธองค์ก็ทรงรับข้าวแดงที่พระอานนท์บดด้วยหินมาเสวย ทรงสดับเสียงครกแล้วตรัสถามพระอานนท์ ทรงทราบความแล้วทรงประทานว่า สาธุ สาธุ ที่สาวกของพระองค์เป็นผู้อดทนและเป็นผู้เลี้ยงง่าย
     พระโมคคัลลานะเห็นภิกษุสงฆ์อดอยาก มีความกรุณาสงสาร ได้เข้าไปกราบทูลพระพุทธองค์ ขอแสดงฤทธิ์พลิกแผ่นดิน เพื่อให้เหล่าภิกษุได้ฉันง้วนดิน ซึ่งมีรสโอชาเหมือนน้ำผึ้งหวี่ ไม่มีตัวอ่อน หรือมิฉะนั้นก็จะพาหมู่ภิกษุทั้งหมด ที่ไม่มีฤทธิ์ ไปบิณฑบาตในกุรุทวีป
พระพุทธองค์ทรงห้ามเสียทั้งสองประเด็น


   

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...