วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ถ้ามีสตรีบวช ศาสนาไม่ตั้งอยู่นาน

     "อานนท์ ! ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน
     สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วบัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปีเท่านั้น
     อานนท์ ! สตรีได้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน
     เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้น ถูกพวกโจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย
     อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอก ที่ลงในนาข้าวสาลีที่สมบูรณ์นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
     อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนเพลี้ย ที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
     อานนท์ !บุรุษกั้นทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใดเราบัญญัติครุธรรม 8 ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นก็เหมือนกัน"

วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เรื่องร้ายกลายเป็นดี

      พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันเมืองสาวัตถี พราหมณ์คนหนึ่งเคยรับราชการ แต่ได้ถูกปลดออกจากราชการแล้ว เขาคิดว่าจะทูลขอรับตำแหน่งเดิมคืน จึงอาบน้ำแต่งตัวอย่างดี แล้วเดินทางผ่านสำนักภิกษุณี เพื่อจะไปเฝ้าพระราชา
     ขณะที่เดินผ่านสำนักของนางภิกษุณี ได้มีภิกษุณีรูปหนึ่งเทหม้ออุจจาระออกทางข้างฝา ราดลงบนศรีษะของพราหมณ์พอดี เขาโกธรมากถือว่าเป็นอัปมงคล จึงคิดจะเผาสำนักภิกษุณีเหล่านี้เสีย
     เขารีบกลับบ้าน จุดคบเพลิงจะนำไปเผา ขณะเดินไปใกล้สำนักภิษุณี มีอุบาสกคนหนึ่งเดินมาจากสำนักภิกษุณี สอบถามได้ความว่าจะไปเผาสำนักภิกษุณี เขาจึงแนะว่า
     "ท่านผู้เจริญ ! สิ่งที่ท่านถูกกระทำนั้น หาได้เป็นอัปมงคลไม่ แต่กลายเป็นมงคลสำหรับท่าน ท่านจงรีบไปเถิด ท่านจะได้ทรัพย์ 1000 ตำลึง พร้อมทั้งได้รับตำแหน่งเดิมคืนด้วย"
     พราหมณ์รีบกลับบ้าน อาบน้ำชำระร่างกายแล้ว รีบไปสู่ราชสำนัก ก็ได้รับเงินพันตำลึงและตำแหน่งเดิมคืน สมตามที่อุบาสกบอก
     ฝ่ายอุบาสกนั้น ได้ไปสู่สำนักภิกษุณี แจ้งเหตุที่เกิดขึ้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ แล้วขู่สำทับภิกษุณีที่ไม่มีคุณสมบัติสตรี
     เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ ทรงสอบสวนได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามมิให้ภิกษุณี เทเองหรือใช้ให้เทสิ่งปฏิกูล ออกนอกฝาหรือกำแพงต่อไป

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ครุธรรม 8 (กำเนิดภิกษุณี)

      1.ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว 100 ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น
     2.ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษา ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
     3.ภิกษุณีต้องหวังธรรม 2 ประการ คือ ถามวันอุโบสถ 1 เข้าไปฟังคำสั่งสอน 1 จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
     4.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ 2 ฝ่ายโดยสถานทั้ง 3 คือ 1โดยได้เห็น 2.โดยได้ยิน 3.โดยรังเกียจ
     5.ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ 2 ฝ่าย
     6.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ 2 ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม 6 ประการครบ 2 ปีแล้ว
     7.ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง
     8.ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี
     ธรรมทั้ง 8 ข้อนี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

ขยายความ ครุธรรม 8 ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงประทานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นภิกษุณีองค์แรก แทนการ อุปสมบทด้วยสงฆ์สองฝ่าย

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ห้ามภิกษุณีฉันกระเทียม

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันเมืองสาวัตถี อุบาสกคนหนึ่งได้ปวารณากระเทียมแก่นางภิกษุณีสงฆ์ ถ้าต้องการกระเทียมให้มาเอาได้ ทั้งที่ร้านค้าและที่ไร่องค์ละ 2-3 กำ     ต่อมา ในเมืองสาวัตถีมีงานมหรสพ มีคนมาซื้อกระเทียมที่ร้านค้าหมด เมื่อนางภิกษุณีมาขอจึงไม่ได้ อุบาสกเจ้าของร้านขายกระเทียม ขอให้ภิกษุณีไปเอาที่ไร่ ภิกษุณีถุลลนันทาได้ไปเอากระเทียมที่ไร่มากมาย จนคนเฝ้าไร่ติเตียนว่าไม่รู้จักประมาณ     ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม ได้ความจริงแล้วทรงติเตียนเป็นอันมาก จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุณีฉันกระเทียม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ทรงนำเอานิทานมาเล่า ประกอบเรื่องของคนโลภมาก ดังนี้                               เรื่องหงษ์ทอง     เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาได้เคยเป็นภรรยาของพราหมณ์คนหนึ่ง มีธิดาอยู่ 3 คน ชื่อ นันทา นันทวดี และ สุนทรีนันทา     อยู่ต่อมา พราหมณ์สามีตายลง ไปเกิดเป็นหงส์ทอง มีขนเป็นทองทั้งตัวอยู่ในบ้านของตนนั่นเอง ด้วยความกรุณาหงส์ทองได้สลัดขนทอง ให้ครอบครัวของตนในอดีตคนละ 1 ขน รวมวันละ 4 ขนเป็นประจำ     ภิกษุณีถุลลนันทาเกิดความโลภ จึงจับหงส์ทองถอนขนจนหมด ขนที่ออกมาใหม่เลยกลายเป็นสีขาวไปขยายความ การไม่รู้จักควบคุมความต้องการให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร ย่อมจะทำความเดือดร้อนให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ห้ามภิกษุฉันกระเทียม

      สมัยนั้น พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม แก่พุทธบริษัทหมู่ใหญ่อยู่ มีภิกษุรูปหนึ่งฉันกระเทียม ท่านเกรงว่ากลิ่นของกระเทียม จะรบกวนสมาธิของภิกษุทั้งหลาย จึงออกไปนั่งฟังธรรม อยู่ภายนอกหมู่บริษัท      พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็น จึงรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า      " ทำไมหนอ ภิกษุนั่นจึงนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง ? " ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า      "ภิกษุนั่นฉันกระเทียม พระพุทธเจ้าข้า และเธอคิดว่ากลิ่นกระเทียมจะรบกวนภิกษุทั้งหลาย จึงนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง"      พระพุทธเจ้าตรัสว่า      "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุฉันของใดแล้ว จะพึงเป็นผู้เหินห่างจากธรรมกถาเห็นปานนี้ ภิกษุควรฉันของนั้นหรือ ?"      ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า      "ไม่ควรฉันพระพุทธเจ้าข้า"      "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงฉันกระเทียม รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ"      ต่อมา พระสารีบุตรอาพาธ เป็นลมเสียดในท้อง พระโมคคัลลานะไปเยี่ยมถามพระสารีบุตรว่า เมื่อก่อนท่านเป็นลมเสียดในท้อง ท่านหายด้วยยาอะไร ท่านตอบว่าท่านเคยหายด้วยกระเทียมจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระพุทธเจ้า ๆ จึงรับสั่งว่า      "ภิกษุทั้งหลาย ! เราอนุญาตให้ฉันกระเทียมได้ เพราะเหตุอาพาธ"

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โทษของศีลวิบัติ 5

     1.คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมเข้าถึงความเสื่อมโภคทรัพย์ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความประมาท   

    2.คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ ชื่อเสียงอันลามกย่อมเฟื่องฟุ้งไป
    3.คนทศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ เข้าไปสู่สมาคมใด ๆ ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน    
    4.คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้หลงทำกาละ   
    5.คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตและนรก 

ส่วนคุณของศีลสมบัติ 5 พึงทราบตามนัยะตรงข้ามจากนี้

ขยายความ ศีลวิบัติ คือความเสียหายที่เกี่ยวกับศีล      
ศีล คือข้อปฏิบัติ ที่ควบคุมความประพฤติทางกายและวาจา เพื่อมิให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งตนเองและสังคมส่วนรวม

     ศีลของชาวบ้าน คือ ศีล 5 และ ศีล 8      
     ศีลของนักบวช คือศีล 10 ของสามเณร      และ
     ศีล 227 ของภิกษุ


เครื่องเศร้าหมองของสมณะ 4

      1.สมณพราหม์พวกหนึ่ง ดื่มสุรา ดื่มเมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า่ ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์     

    2.สมณพราหม์พวกหนึ่ง เสพเมถุนธรรม ไม่งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า่ ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์       
    3.สมณพราหม์พวกหนึ่ง ยินดีทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการรับทองและเงิน ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า่ ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์   
    4.สมณพราหม์พวกหนึ่ง เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้นจากมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า่ ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ขยายความ เหตุแห่งความเศร้าหมองของนักบวช ทั้ง 4 ข้อ นี้ความชัดอยู่แล้วใครทำก็จะต้องเศร้าหมองแน่ ๆ  แต่ในเมืองไทย ก็ยังมีปรากฎอยู่ทั่วไป ว่านักบวชยังมีการละเมิดครบทั้ง 4 ข้อเป็นที่น่าเสียดายมาก ที่บุคคลบางจำพวก ได้อาศัยศาสนา เป็นที่หาความสุขทางเนื้อหนัง อย่างไม่ละอายใจตนเอง           ขอวอนเมตตา จากผู้ที่เห็นแก่พระศาสนา ช่วยกันกำจัดมารศาสนา ให้พ้นไปจากพุทธจักรโดยเร็วเถิด จะเป็นกุศล มหาศาล

     ปล. คำว่าเมถุนธรรม คือการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ


วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สตรีเป็นมลทินของภิกษุ

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตะวันเมืองสาวัตถี ครั้งนั้นพระอุทายีเป็นพระประจำสกุลในเมืองสาวัตถี ท่านชอบเข้าออกในสกุลเป็นประจำ ในสมัยนั้นมีหญิงสาวสกุลอุปัฏฐากของพระอุทายี เป็นหญิงที่บิดามารดายกให้แก่ชายหนุ่มไว้แล้ว     เช้าวันหนึ่ง พระอุทายีไปบ้านสกุลอุปัฏฐากนั้น แล้วถามหาหญิงสาวว่าอยู่ที่ไหนคนในบ้านบอกว่าอยู่ในห้อง พระอุทายีได้เข้าไปหาหญิงสาวคนนั้นในห้อง นั่งคุยกันตัวต่อตัวในที่กำบังนั้น     ในวันนั้น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้รับเชิญให้มาในงานมงคลที่บ้านนั้น เห็นพระอุทายีนั่งในที่ลับกับหญิงสาวหนึ่งต่อหนึ่ง นางเห็นว่าพระอุทายีทำไม่เหมาะไม่ควรกับเพศและภาวะจึงได้พูดตักเตือนว่า      “ข้าแต่พระคุณเจ้า ! การที่พระคุณเจ้านั่งในที่ลับ ในที่กำบังซึ่งพอจะทำการได้กับหญิงหนึ่งต่อหนึ่งเช่นนี้ เป็นการไม่เหมาะไม่ควร แม้พระคุณเจ้าจะไม่ต้องการด้วยสิ่งนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้นพวกชาวบ้านที่เขาไม่เลื่อมใส จะบอกให้เชื่อว่าท่านบริสุทธิ์ได้โดยยาก”      พระอุทายีแม้ถูกนางวิสาขากล่าวเช่นนั้น ก็มิได้สนใจใส่ใจในคำตักเตือน เมื่อนางกลับไปแล้วจึงได้เล่าเรื่องนี้ให้พวกภิกษุฟัง ภิกษุที่เป็นผู้มักน้อยและสันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ เคารพต่อการศึกษา ต่างพากันเพ่งโทษติเตียนพระอุทายีว่าทำไม่ถูกไม่ควร แล้วกราบทูลเรื่องนี้แด่พระพุทธเจ้า     พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ สอบสวนพระอุทายี เมื่อได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงตำหนิว่า ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เพราะเป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่เลื่อมใสกลับไม่เลื่อมใสยิ่งขึ้น และผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะคลายความเลื่อมใส     ครั้นทรงติเตียนพระอุทายีเป็นอันมากแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามมิให้ภิกษุนั่งในที่ลับหูหรือลับตากับหญิงหนึ่งต่อหนึ่งอีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันนี้พระวินัยข้อนี้ ก็ยังใช้บังคับอยู่ขยายความ ความเสื่อมของพระ ที่เกี่ยวกับสตรีมีมากเรื่อง ผู้หวังความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย ถ้าไม่ใส่ใจในพุทโธวาทที่ว่าด้วยการปฏิบัติตัวของพระต่อสตรี อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าจะมีความสงบใจ     น่าสรรเสริญนางวิสาขา ที่ทำตนเป็นชาวพุทธที่ดี เมื่อเห็นพระทำไม่ถูกไม่ควรก็แนะนำตักเตือนด้วยเมตตาจิต เมื่อเตือนแล้วไม่ฟังไม่ทำตาม จึงนำไปบอกแก่พระแทนที่จะเอาไปโพนทะนากับชาวบ้าน นับว่าเป็นตัวอย่างที่ควรแก่การสาธุ     ถ้าชาวพุทธเราไม่ถือคติ ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์อย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกา ต่างช่วยกันปกป้องความเสื่อมของพระศาสนา คนละไม้คนละมือเป็นหูเป็นตาแทนองค์พระศาสดาโดยพร้อมเพรียงกันแล้ว ภิกษุสามเณรในเมืองไทย ก็น่าจะไหว้น่ากราบน่าทำบุญขึ้นอีกมากทีเดียว ขอฝากเรื่องนางวิสาขา ไว้เป็นตัวอย่างแก่ชาวพุทธทุกท่านด้วย


วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เงินทองเป็นมลทินของภิกษุ



     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ ครั้งนั้นพระอุปนนทศากยบุตรเป็นพระประจำของตระกูลหนึ่ง ท่านรับบิณฑบาตที่บ้านนั้นเป็นประจำ เขามักจะแบ่งอาหารไว้ถวายท่านในวันรุ่งขึ้นประจำ

     เย็นวันหนึ่ง บ้านนั้นมีเนื้ออยู่ชิ้นหนึ่ง เขาตั้งใจไว้ว่าจะเอาไว้ถวายพระอุปนนท์ แต่พอเช้ามืดวันรุ่งขึ้น เด็กเล็กตื่นนอนขึ้นมา แลเห็นเนื้อเข้าก็ร้องไห้จะเอา ทำอย่างไรก็ไม่ยอมสามีจึงบอกภรรยาไปว่า จงให้ชิ้นเนื้อแก่เด็กไปเถิดแล้วค่อยซื้อสิ่งอื่นถวายท่าน

     พอสว่างพระอุปนนท์ถือบาตรมาบ้านนั้น พ่อบ้านได้เล่าเรื่องชิ้นเนื้อถวายว่าได้ให้เนื้อแก่เด็กไปแล้ว ตอนนี้จะหาซื้ออะไรไม่ทัน ท่านจะให้ทำอย่างไรดี เนื้อนั้นมีค่าหนึ่งกหาปณะผมแยกเงินไว้แล้ว

     พระอุปนนท์ได้บอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องซื้ออะไรแล้ว เอาเงินหนึ่งกหาปณะนั่นแหละมาให้ท่านแทน สามีจึงได้ถวายเงินหนึ่งกหาปณะแก่พระอุปนนท์ พอถวายไปแล้วก็เพ่งโทษติเตียนว่า พระสมณะรูปนี้รับเงินทองเหมือนพวกชาวบ้าน

     เมื่อข่าวการรับเงินของพระอุปนนท์รู้ไปถึงหมู่ภิกษุ พวกภิกษุต่างพากันรังเกียจจึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธองค์ จึงทรงประชุมสงฆ์ตำหนิการกระทำนั้น แล้วบัญญัติเป็นสิกขาบท ห้ามภิกษุรับเงินทองเอง หรือใช้ให้คนอื่นรับ เพื่อเก็บไว้สำหรับตน ซึ่งสิกขาบทนี้ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้

ขยายความ ความมุ่งหมายในการบัญญัติวินัยข้อนี้ ในชั้นแรกทีเดียวนั้น ก็มุ่งความติเตียนของชาวบ้านเป็นเกณฑ์

     แต่ถ้าจะพิจรณากันให้ตลอดสาย ทั้งอดีตและปัจจุบัน จะเห็นพระอนาคตังสญาณ ของพระพุทธองค์อย่างแจ่มชัด คือนอกจากทรงมุ่งชาวบ้านตำหนิแล้ว ยังมุ่งมิให้พระสะสมและแก้ปัญหาต่าง ๆ อันเกิดขึ้นจากเงินเป็นเหตุอีกมากมาย

     แม้ในวินัยเอง ก็ยังทรงให้ยินดีสิ่งของ อันเกิดจากเงินได้ แต่มิได้หมายความว่าให้รับเงินเอง เก็บเอง ใช้เอง นั่นสมัยพุทธกาล

     ในสมัยปัจจุบันนี้ พระควรใช้เงินหรือไม่ ? ตามความเห็นของผู้จัดทำ ต้องดูกันที่ กาละ เทศะ และบุคคลนั่นก็คือ การปฏิบัติให้ถูกต้องพระวินัย ควรจะมาเป็นอันดับแรก ไม่รับไม่เก็บเอง หรือให้เขาเก็บไว้เพื่อตน แต่ควรจะมีผู้เก็บไว้เป็นกองกลาง (ของสงฆ์)

     อันดับสอง ถ้าทำไม่ได้ตามข้อแรก ควรจะรับเอง เก็บเองและใช้เองได้ แต่ต้องดูสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าชาวบ้านรังเกียจก็ไม่ควรจะทำ ควรจะถามความมุ่งหมายของชาวบ้านดู ว่าจะให้พระทำอย่างไร ชาวบ้านจะร่วมมือ ให้พระได้เอื้อเฟื้อพระวินัยได้เพียงไร ถ้าชาวบ้านช่วยรับภาระได้ก็หมดปัญหา

     อันดับสุดท้ายถ้าไม่มีผู้สนอง และชาวบ้านไม่รังเกียจ ก็ รับ เก็บ และใช้เองได้ แต่จะต้องยึดหลักไม่สะสม และจะใช้ในสิ่งที่ควรแก่สมณะเท่านั้น ต่อไปเมื่อมีผู้สนอง ก็ควรจะงดเสีย

     อย่าหลับตาด่าพระเรื่องเงินกันต่อไปอีกเลย จะให้พระเคร่งครัดวินัยแต่ท่านไม่เคยช่วยพระเลย อย่างนี้แล้วท่านจะเป็น อุบาสกอุบาสิกา ที่มีเมตตาได้อย่างไร ?

    

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...