วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

กายคตาสติเป็นหลักใจ

     ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนคนจับเอาสัตว์ 6 ชนิด ซึ่งมีวิสัย (พื้นเพ) ต่างกัน มีโคจร (ที่ไป) ต่างกันคือ จับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วจึงขมวดปมไว้ตรงกลางแล้วปล่อยไป
     ที่นั้นแล สัตว์ทั้ง 6 ชนิดซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน เหล่านั้น พึงดึงมาหาโคจรและวิสัยของตน ๆ งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะลงน้ำ นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะบินขึ้นสู่อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจะไปสู่ป่าช้า
     ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใดแลสัตว์ทั้ง 6 ชนิดนั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของตน ๆ พึงลำบาก เมื่อนั้น บรรดาสัตว์เหล่านั้นสัตว์ใดมีกำลังมากกว่าสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นพึงอนุวัตรคล้อยตามไป สู่อำนาจแห่งสัตว์นั้น แม้ฉันใด
     ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ได้อบรมไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งกายคตาสติก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตาย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันเป็นที่ไม่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล หูย่อมฉุด...จมูกย่อมฉุด...ลิ้นย่อมฉุด...กายย่อมฉุด...ใจย่อมฉุดไปในอารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล
     ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่สังวรระวัง ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล
     ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนคนจับสัตว์ 6 ชนิด...ครั้นแล้วพึงผูกไว้ที่หลักหรือที่เสาอันมั่นคง... สัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของตน ๆ พึงไปลำบาก เมื่อนั้นสัตว์เหล่านั้น พึงยืนแนบ นั่งแนบ นอนแนบ อยู่ที่หลักหรือเสานั่นเองแม้ฉันใด
     ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตาย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น ไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล เสียงย่อมไม่ฉุด...กลิ่นย่อมไม่ฉุด...รสย่อมไม่ฉุด...กายย่อมไม่ฉุด...ใจย่อมไม่ฉุดไปในธรรมารมณ์ อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
     ภิกษุทั้งหลาย ! ความสังวรระวังย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล
     ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่าหลักหรือเสาอันมั่นคงนั้น เป็นชื่อของกายคตาสติ เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ เราทั้งหลายจะอบรมกระทำให้มาก กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งให้มั่นคง สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
     ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล”

ขยายความ พระสูตรนี้ ทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติของภิกษุ ที่ไม่สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ย่อมจะถูกอารมณ์ภายนอกดึงไปใน 6 ทางนี้ อารมณ์ใดแรง กล่าวคือเกิดความชอบหรือชังมาก ก็จะถูกเหนี่ยวรั้งไปทางนั้น
     แต่ถ้าผู้ใดมีหลักคือ เจริญและทำให้มากใน “กายคตาสติ” คือสติที่พิจารณาในกาย ให้เห็นว่าเป็นของไม่งาม ไม่สะอาด น่ารังเกียจ การที่จะถูกอารมณ์ทั้ง 6 ดึงไป ด้วยความหลงใหลมัวเมาก็ไม่อาจเป็นไปได้

     การปักหลัก “กายคตาสติ” ให้มั่นคงจะเกิดขึ้นได้ ต้องหมั่นพิจารณาอยู่บ่อย ๆ มิใช่รอให้เกิดเรื่องแล้วจึงทำ ย่อมจะไม่ทันกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...