วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560

อานาปานสติสูตร

อานาปานสติสูตร (สูตรว่าด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก)
     พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา ในบุพพารามเขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวกผู้ใหญ่หลายรูป เช่น พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปเถระ พระมหากัจจายนเถระ พระมหาโกฏฐิตเถระ พระมหากัปปินเถระ พระมหาจุนทเถระ พระเรวตเถระ พระอานนท์เถระและพระเถระผู้ใหญ่รูปอื่น ๆ อีกมาก
พระมหาเถระเหล่านั้น ได้ให้โอวาทแก่ภิกษุใหม่ โดยแบ่งกันให้โอวาทรูปละ 10 รูป 20 รูป จนถึงบางท่านรับผิดชอบ ในการโอวาทพระนวกะถึง 40 รูป ช่วยให้พระนวกะเหล่านั้นได้รู้ธรรมพิเศษกว้างขวางยิ่งกว่าก่อนมาก
     ในคืนเพ็ญวันปวารณาออกพรรษา พระผู้มีพระภาคประทับอยู่กลางแจ้ง โดยมีพระสงฆ์เป็นอันมาก นั่งแวดล้อมพระองค์อยู่ ทรงเหลียวดูหมู่สงฆ์ผู้นั่งเงียบอยู่ จึงตรัสว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย !เราปรารพในปฏิปทานี้ เรายินดีในปฏิปทานี้ เพราะเหตุนั้นพวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุคุณที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำคุณที่ตนยังไม่ทำให้แจ้ง โดยยิ่งกว่าประมาณเถิด เราจักอยู่ในเมืองสาวัตถีนี้จนถึงวันเพ็ญเดือน 12
ภิกษุชาวชนบททราบข่าวนั้น จึงได้มาสู่เมืองสาวัตถี เข้ารับการอบรมในสำนักพระเถระทั้งหลาย ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในพระธรรมเพิ่มขึ้น
     ในคืนวันเพ็ญแห่งเดือน 12 พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับกลางแจ้ง ท่ามกลางพระสงฆ์แวดล้อม เช่นวันเพ็ญเดือนก่อนทรงทอดพระเนตรเห็นภิกษุบริษัท อยู่ในอาการอันสงบเงียบเรียบร้อย จึงรับสั่งความว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย ! บริษัทนี้ไม่คุยกัน เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์ สงฆ์บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่การคำนับ ต้อนรับ ให้ทักษิณาทาน ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นที่ยิ่งไปกว่า
     ภิกษุสงฆ์นี้ เป็นเช่นเดียวกับบริษัท ที่เขาถวายของน้อยมีผลมาก ถวายของมากมีผลมากยิ่งขึ้น สงฆ์เช่นนี้เป็นเช่นเดียวกับบริษัท ที่ชนจะเอาเสบียงคล้องแขนเดินทางไปชม แม้ไกลนับเป็นโยชน์
     จากนั้น ทรงจำแนกภิกษุ ที่นั่งอยู่ในบริษัทนั้น ให้เห็นว่าเป็นผู้มากด้วยคุณสมบัติ ในระดับต่าง ๆ โดยทรงเรียงจากท่านที่เป็นพระอรหันต์ลงไป โดยเริ่มต้นแต่ละข้อว่า ภิกษุในสงฆ์นี้ เป็น
     - พระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ
     - เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง 5 จะได้นิพพานในโลกนั้น ๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา
     - เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ 3 อย่าง และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
     - เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ 3 อย่างไม่ต้องตกอบายเป็นธรรมดาแน่นอนที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า
     - เป็นผู้ประกอบความเพียร ในการเจริญสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8
     - เป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร ในการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา อานาปานสติ
     จากนั้น ทรงแสดงอานิสงส์การเจริญขั้นตอน แห่งอานาปานสติโดยพิสดารความว่า
     “อานาปานสติ อันภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่ ผู้เจริญอานาปานสติแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ ผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ทำให้มากแล้วย่อมทำโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ 7 ประการ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้วิชชาและวิมุติบริบูรณ์ได้
     ขั้นตอนแห่งการเจริญอานาปานสติ ที่ทรงแสดงว่าเมื่อเจริญทำให้มากแล้วย่อมเกิดผลมาก คือ
-     การเข้าไปสู่ที่อันสงัดเงียบ จากเสียงรบกวน เช่น ป่า โคนไม้ เรือนว่าง ฯ
-     นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า มีสติ หายใจออก มีสติหายใจเข้า
-     เมื่อหายใจเข้า ออก ยาว สั้น ให้รู้ชัดว่า ขณะนี้เราหายใจเข้า ออก ยาว สั้น
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้า
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า หายใจออก
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ ปีติ สุข จิตตสังขาร หายใจเข้า หายใจออก
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิต ทำจิตให้ร่าเริง ตั้งจิตมั่นจักเปลื้องจิต หายใจเข้า หายใจออก
-     สำเหนียก อยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส ความสละคืนกิเลส หายใจเข้า หายใจออก
ขั้นที่ 2 ทรงแสดงถึงกรรมวิธี ที่จะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในสติปัฏฐาน โดยดำเนินไปตามวิถีทางอานาปานสติตามลำดับ ความว่า
-     เมื่อภิกษุรู้ชัดลมหายใจเข้า ออก ของตนว่ายาว สั้น สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวง หายใจเข้าออก ระงับกายสังขาร หายใจเข้า ออกแล้ว ขณะนั้นภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกได้ เรากล่าวว่า ลมหายใจเข้าออกเป็นกายชนิดหนึ่งในพวกกาย
-     เมื่อภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ปิติ สุข จิตตสังขาร ระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า หายใจออกอยู่ ขณะนั้นภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกเสียได้ เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจเข้าออก เป็นอย่างดีนี้ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในเวทนาทั้งหลาย
-     เมื่อภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิต ทำจิตให้ร่าเริง ตั้งจิตมั่นเปลื้องจิต หายใจเข้าหายใจออก ขณะนั้นภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่ผู้เผลอตัว ขาดสติ ไม่รู้สึกตัว
-     เมื่อภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง คลายความกำหนัด ความดับกิเลส ความสละคืนกิเลส หายใจเข้าหายใจออก ขณะนั้นภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกเสียได้ เธอรู้เห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว เป็นผู้วางเฉยได้ดี
     ในตอนสุดท้ายทั้ง 4 ข้อ จะทรงสรุปด้วยคำว่า เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมในกาย เวทนา จิต ธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียได้อยู่
     ขั้นที่ 3 ทรงแสดงการก้าวไปแห่งจิต จากการเจริญสติปัฏฐาน ไปสู่โพชฌงค์ 7 ประการ ความว่า
     เมื่อภิกษุเรียนรู้ในสติปัฏฐาน จนขจัดกิเลสดังกล่าวได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่เผลอชื่อว่าเป็นการเจริญสติสัมโพชฌงค์ เมื่อเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่ จนสติสัมโพชฌงค์เข้าถึงความเจริญสมบูรณ์ เมื่อมีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
     การกระทำเช่นนั้น ชื่อว่าเป็นการเริ่ม ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อเจริญต่อไป ปีติอันปราศจากอามิส ย่อมเกิดแก่ภิกษุ ผู้ปรารภความเพียรแล้ว
     การเกิดขึ้นแห่งปีติอันปราศจากอามิส ได้ชื่อว่าเกิดปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ไปจนบริบูรณ์ ความสงบระงับแห่งกายจิตย่อมเกิดขึ้น
     ความสงบระงับแห่งกายจิต เป็นอาการของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เมื่อเจริญปัสสัทธิโพชฌงค์จนบริบูรณ์แล้ว จะเกิดความสุข และจิตใจตั้งมั่น
     อาการสงบระงับแห่งกายใจ จนเกิดสุข มีจิตตั้งมั่น เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์เมื่อเจริญไปจนบริบูรณ์ ย่อมเป็นผู้วางเฉยต่อจิตที่ตั้งแล้วเป็นอย่างดี
     อาการวางเฉยแห่งจิต เมื่อเข้าถึงความเจริญ บริบูรณ์แล้ว ย่อมได้อุเบกขาสัมโพชฌงค์
     ต่อแต่นั้น ทรงแสดงการเดินทางแห่งจิต ไปตามโพชฌงค์ 7 ประการ ของผู้ที่พิจรณาเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม ในการ เวทนา จิต ธรรม เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้น แก่ผู้เจริญกายานุปัสสนา
     รับสั่งว่า ผู้เจริญโพชฌงค์ 7 อย่างไรทำให้มากแล้วอย่างไร จะบำเพ็ญวิชชาและวิมุติ ให้บริบูรณ์ได้
     ทรงเฉลยว่า ผู้เจริญโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการนั้น โดยอาศัยวิเวก วิราคะ นิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ทำให้มากอย่างนี้แล้ว ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ได้

(ติดตามตอนจบครั้งหน้าครับ)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...