วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

วิธีดับทุกข์ได้ที่นี่เดี๋ยวนี้

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตะวัน พระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายอันเป็นที่ประชุม แห่ง มหาภูตทั้ง 4 นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะว่าความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของร่างกายอันเป็นที่ประชุม แห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ ย่อมปรากฏ
     ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้างในร่างกายนั้น แต่ตถาคตเรียกร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดหลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
     เพราะเหตุว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนมิได้สดับย่อมรวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ ตลอดกาลช้านาน
     ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นไม่ได้เลย
     ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ โดยความเป็นตนหาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
     เพราะร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ เมื่อดำรงอยู่ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ
     แต่ว่า ตถาคตเรียกร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ทั้งกลางคืนและทั้งกลางวัน
     ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมใส่ใจด้วยดีโดยแยบคาย ถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม ในร่างกายและจิต ที่ตถาคตกล่าวมาแล้วนั้นว่า เพราะเหตุดังนี้

                      เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
           เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ

     เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนา
     เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนาดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงดับจึงสงบไป
     เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา จึงเกิดทุขเวทนาขึ้น
     เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัย แห่งทุกขเวทนานั้นดับไป ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป
     เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งเวทนา ที่ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ จึงเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้น
     เพราะสัมผัสอันเป็นปัจจัย แห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นดับไป อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่ง อทุกขมสุขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป
     ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม้สองอันครูดสีกัน จึงเกิดไออุ่น เกิดความร้อน แต่ถ้าแยกไม้ทั้งสองอันนั้นแหละ ออกเสียจากกัน ไออุ่นซึ่งเกิดจากการครูดสีกันนั้น ก็ดับไป สงบไป แม้ฉันใด
     ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัย แห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิดเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป
     เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งทุขเวทนา จึงเกิดทุขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัย แห่งทุกขเวทนานั้นดับไป ทุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป
     เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งเวทนา ที่มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข จึงเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้น เพราะสัมผัสอันเป็นปัจจัยแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้น ดับไปอทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งอทุกขมสุขเวทนาจึงดับ จึงสงบไป ฉันนั้นเหมือนกัน
     ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ได้สดับ มาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในผัสสะ ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมหน่ายแม้ในสังขาร ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ
     เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว และย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอืนเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้แล”

ขยายความ ความย่อของพระสูตรนี้ มีอยู่ว่า ในร่างกายของทุกคน ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ท่านเรียกว่ามหาภูตทั้ง 4 ผู้ที่มิได้ศึกษาหรือได้ฟังคำสั่งสอนของพระอริยะจึงไม่รู้ความจริง ว่าที่จริง่างกายของคนเรานี้เกิดขึ้นจากส่วนประกอบต่าง ๆ
     เมื่อมีเกิดขึ้นก็มีการเสื่อมสลาย และมีการแตกดับคือตายในที่สุด ผู้ที่ไม่เคยฟังเรื่องความจริงของชีวิต ก็จะไม่เบื่อหน่าย ไม่คลายกำหนัด ไม่คิดจะสลัดออกไป มีแต่รวบรัดเอาเข้าไว้ด้วยความอยาก (ตัณหา) และความลุ่มหลง (โมหะ)
     พร้อมทั้งยึดมั่น ถือมั่นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเราไม่มีการเบื่อหน่าย หรือคิดสละออกไป ชาติแล้วชาติเล่าจนนับไม่ถ้วน
     แท้ที่จริง จิต มโนหรือวิญญาณ (คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์,สภาพที่นึกคิด) มันเกิดขึ้นและดับไปตลอดเวลา เกิดและดับอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ที่ไม่เคยฝึกจิต จะรู้ได้ยากหรือไม่รู้เลยว่าจิตนี้เกิดและดับอย่างไร
     สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งดีและไม่ดี ย่อมเกิดจากส่วนประกอบ หรืออาศัยกันเกิดขึ้นที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุทปบาท” ต่างเกิดขึ้นทยอยส่งต่อ ๆ กันมา เป็นเหมือนลูกโซ่ ตราบใดที่ยังมีเหตุให้เกิดอยู่ มันก็มีการเกิดอยู่เรื่อยไป เมื่อเหตุดับหรือไม่มี ผลคือลูกโซ่ห่วงที่สองก็ไม่มี
     ท่านยกตัวอย่าง “ผัสสะ” คือการกระทบ ต่อมาก็เกิด “เวทนา” คือความรู้สึก ถ้าเป็นฝ่ายที่ชอบใจ ก็เรียกว่า “สุขเวทนา” ถ้าเกิดไม่ชอบใจก็เรียกว่า “ทุกขเวทนา” หรือจะชอบก็ไม่ใช่ จะชังก็ไม่เชิงคือเฉย ๆ ก็เรียกว่า “อทุกขมสุขเวทนา
     รวมความว่า จิตของคนเราโดยทั่วไป จะมีอาการสามอย่าง คือ ชอบ ชัง และเฉย
     ในเวทนาสามอย่างนี้ สิ่งที่ก่อให้เกิดชอบและชัง มีบทบทในชีวิตของคนเรามากที่สุด คือสิ่งที่ชอบใจก็อยากได้ แสวงหา ไฝ่หา เมื่อหาไม่ได้ก็ทุกข์ใจ เมื่อหามาได้ก็หลงใหล ผูกพัน หวงแหน เกรงว่าจะสูญหายไป เมื่อสูญหายหรือพลัดพรากไปก็ทุกข์ทรมาน
     สิ่งที่ชัง ไม่ต้องการ เมื่อพบหรือได้มา ก็เป็นทุกข์อยากหนี อยากทิ้ง อยากทำลาย เมื่อทำไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์ทรมานใจ
     รวมความว่า ทั้งสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ก็เป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งสิ้น ผู้รู้จริงเห็นจริง จึงไม่ยึดถือผูกพัน เมื่อไม่ยึดถือผูกพันความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ คนเราก็เป็นอิสระ
     ประตูหรือทาง ที่จะให้คนเราเกิดความชอบ ชัง หรือเฉย มีอยู่ 6 ทาง คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
     ยกตัวอย่างทางตา เมื่อตาเห็นรูป จะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ อะไรก็ตาม ต้องมี “สติ” และ “สัมปชัญญะ” คือระลึกได้และรู้ตัวอยู่ทุกขณะ ความชอบหรือความชังก็เกิดไม่ได้ ก็กลายเป็น “อุเบกขา” คือความวางเฉยในสิ่งที่มากระทบ
     ท่านเปรียบเหมือนไม้แห้งสองอัน เมื่อนำมาเสียดสีกันนาน ๆ ก็เกิดความร้อนและเป็นไฟในที่สุด ถ้าแยกไม้แห้งออกจากกัน ความร้อนหรือไฟก็เกิดไม่ได้
     ขณะที่ตากระทบกับรูป ที่เรียกว่า “จักขุสัมผัส” ถ้าสติความระลึกได้และสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวมาทัน ก็เท่ากับเป็นชนวนกั้นระหว่างตากับรูป ไม่ให้กระทบกัน ความชอบหรือชังก็เกิดไม่ได้ ส่วนที่เป็น “สังขาร” คือการปรุงแต่งก็ไม่มีนั่นก็คือตัดต้นเหตุของเวทนาที่ตัวผัสสะออกได้
     พระสูตรนี้ เปรียบประดุจสูตรสำเร็จ ที่ปฏิบัติทันทีได้รับผลทันที ไม่ต้องรอวันหน้าหรือชาติหน้า ไม่ต้องแยกรูปแจกนามให้เวียนหัว
     ใคร่ขอให้ท่านที่สนใจธรรมประเภทดับที่นี่และเดี๋ยวนี้ ได้โปรดอ่านพระสูตรนี้ช้า ๆ สักสองหรือสามเที่ยว พอเข้าใจความมุ่งหมายแล้ว ลองเอาไปทำดู แล้วท่านจะประหลาดใจ ว่าสัจจธรรมของพระพุทธองค์นี้ เป็น “สันทิฎฐิโก” คือผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง และเป็น “ปัจจัตตัง” คือผู้ปฏิบัติจะพึงรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น
     การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน โปรดอย่าลืมสูตรของพระพุทธองค์ที่ว่า
เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนั้นจึงมี
      เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี

     ผลทุกอย่างย่อมเกิดมาจากเหตุ เหตุดีผลก็คือความสุข เหตุชั่วผลก็คือความทุกข์ การดับทุกข์ก็จะต้องสาวเข้าไปหา ให้พบต้นเหตุของทุกข์ที่แท้จริงก่อน การแก้ทุกข์จะไม่ยากเลย ถ้าเราตั้งใจแก้จริง และแก้ถูกจุดของปัญหา
     ผู้จัดทำอยากท้าให้ทุกท่าน ที่มีปัญหาชีวิต ได้ลองนำเอาอุบาย จากพระสูตรนี้ไปปฏิบัติดู เพราะเห็นว่าง่าย และได้ผลทันทีที่ปฏิบัติ





อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...