วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

สาวสวยกับคมดาบ

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ. นิคมของชาวสุมภะ ชื่อ เสทกะในสุมภชนบทได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องนางงามในชนบท กับคนที่ผ่านเข้าไปในหมู่นางงามนั้น ด้วยทูลหม้อน้ำมันเต็มเปี่ยม แล้วมีคนถือดาบเดินตามไปข้างหลัง ถ้าหม้อน้ำมันหก ให้ตัดคอทันทีว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนหมู่มหาชน ได้ทราบข่าวว่า มีนางงามในชนบทนั้นน่าดูอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ น่าฟังอย่างยิ่งในการขับร้อง หมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า นางงามในชนบท จะฟ้อนรำขับร้อง พึงประชุมกันยิ่งขึ้นกว่าประมาณ
     ครั้งนั้น คนผู้อยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย ปรารถนาความสุข เกลียดทุกข์ ได้มากล่าวกะที่ประชุมนั้นว่า
     ท่านผู้เจริญ ! ท่านจงนำหม้อใส่น้ำมันอันเต็มเปี่ยมนี้ เดินไปในระหว่างที่ประชุมใหญ่ ของนางงามในชนบทนั้น แต่มีคนเงื้อดาบอันคมเดินตามหลังคนที่ทูนหม้อน้ำมันนั้นไปด้วย ถ้าคนนั้นทำน้ำมันหกเพียงหยดหนึ่งในที่ใด ศีรษะของเขาจะขาดตกลงในที่นั้นทันที
     ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร คนผู้นั้นจะไม่ใส่ใจในหม้อน้ำมันนั้น แล้วพึงประมาทในภายนอก (หม้อน้ำมัน) เที่ยวหรือ ?
     ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
“ไม่เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า”
     ภิกษุทั้งหลาย ! เราทำอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความชัดเจนขึ้น เนื้อความในข้อนี้มีอย่างนี้แล คำว่า ภาชนะหม้อน้ำมันอันเต็มเปี่ยม เป็นชื่อของ “กายคตาสติ
     ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้ว่า กายคตาสติ จะเป็นของอันเราเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
     ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล”

ขยายความ พระสูตรนี้ เป็นข้อเปรียบเทียบ สำหรับภิกษุที่เจริญกายคตาสติด้วยความไม่ประมาท อยู่ทุกย่างก้าวและทุกขณะจิต
     เหมือนคนหนุ่มเดินเข้าไปในหมู่หญิงงามแล้วทูนหม้อน้ำมันเต็มเปี่ยม มีคนกำลังถือดาบคมเงื้อเดินตามไปข้างหลังด้วย ถ้าหม้อน้ำมันกระเซ็นหก แม้เพียงหยดเดียว หัวของคนที่ทูนหม้อน้ำมันนั้นจะขาดลงทันที
     ระหว่างความตายกับการแลมองนางสาวงาม อย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน ?
     กายคตาสติ คือความมีสติระลึกทั่วไปในกาย ให้เห็นเป็นของไม่งาม สกปรก เน่า เหม็น น่าเบื่อระอา น่าสลัดทิ้งฯ
     ในการปฏิบัติธรรมทุกประเภท ถ้ามีความไม่ประมาทถึงขนาดที่ทรงอุปมาไว้นื้ การปฏิบัตินั้น ๆ จะต้องได้ผลอย่างแน่นอน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...