วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

ทองและเงิน ไม่ควรแก่สมณะ


     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชสำนัก ได้ยกเรื่องเงินและทอง ขึ้นสนทนากันว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีและรับทองและเงิน

     ในที่ประชุมนั้น มีนายบ้านชื่อมณีจูฬกะรวมอยู่ด้วย เขาได้กล่าวแก่ที่ประชุมนั้นว่า

     “นาย ! พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะ พระสมณะไม่ยินดี และไม่รับทองและเงิน พระสมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน”

     เมื่อนายบ้านได้ชี้แจงความจริง ให้ที่ประชุมนั้นเข้าใจแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น และกราบทูลต่อไปว่า

     “เมื่อข้าพระพุทธเจ้า กล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามพระผู้มีพระภาค ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมอันสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูปผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนหรือ พระพุทธเจ้าข้า ?”

     พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

     “เอาละนายบ้าน ! เธอพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ

     ดูก่อนนายบ้าน ! ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะโดยแท้ สมณะไม่ยินดีทองและเงิน สมณะไม่รับทองและเงิน สมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร



     เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบรุษพึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไร ๆ ว่า สมณะพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558

พระอานนท์ถูกสงฆ์ปรับอาบัติ

     หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไม่นาน พระมหากัสสปซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ได้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมและวินัย โดยอาศัยมูลเหตุที่พระสุภัททะ ได้เป็นผู้กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัย เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 7 วัน

     ก่อนทำปฐมสังคายนาเล็กน้อย พระเถระทั้งหลายได้พร้อมใจกัน ปรับอาบัติพระอานนท์ ซึ่งสำเร็จพระอรหันต์แล้ว รวม 5 ข้อด้วยกัน คือ

     1.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ไม่กราบทูลถาม ถึงเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย ที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ถอนได้ ถ้าสงฆ์จำนงจะถอน

     พระอานนท์แก้ว่า เพราะระลึกไม่ได้ว่า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย จึงมิได้ทูลถาม แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น 

     2.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฎกของพระพุทธเจ้า ในเวลาเย็บผ้าผืนนั้น

     พระอานนท์แก้ว่า ที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฎกเวลาเย็บนั้น จะไม่มีความเคารพในพระพุทธเจ้าก็หามิได้ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

     3.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ยอมให้สตรีถวายบังคมพระสรีระของพระพุทธเจ้าก่อน พระสรีระเปื้อนน้ำตา ของพวกนางที่ร้องไห้อยู่

     พระอานนท์แก้ว่า ที่ทำดังนั้นเพราะเกรงว่า สตรีเหล่านี้จะกลับบ้านค่ำ จึงให้ถวายบังคมพระสรีระก่อน ไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลายจึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

     4.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ไม่ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้า เมื่อทรงทำนิมิตโอภาสอันหยาบอยู่ ไม่ทูลอ้อนวอนให้ทรงอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

     พระอานนท์แก้ว่า ที่ไม่ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้า ทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพราะมารดลใจ ไม่เห็นว่าเป็นความผิด แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

     5.ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ท่านขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

     พระอานนท์แก้ว่า ที่ทำเช่นนั้น เพราะเห็นว่า พระนางมหาปชาบดีพระน้านาง ทรงเป็นผู้ประคับประคองเลี้ยงดู ทรงประทานขีรธาราแก่พระสิทธัตถะ หลังจากที่พระพุทธมารดาทิวงคต ไม่เห็นว่าจะเป็นความผิด แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัตินั้น

ขยายความ พระอานนท์ได้เป็นแบบอย่างดีเลิศในการที่ไม่มีทิฐิมานะ ท่านยอมรับความเห็นของสงฆ์ส่วนรวม ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เห็นว่าจะเป็นความผิด แต่เมื่อเป็นมติสงฆ์ส่วนรวมท่านก็ยอมปลงอาบัติ


     ชาวพุทธทั้งหลาย ถ้าถือเอาแบบท่านพระอานนท์เป็นตัวอย่าง ความวุ่นวายในวงการสงฆ์ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

ผู้ขอไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ

 พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพวกภิกษุชาวรัฐอาฬวี สร้างกุฎีที่พักของตน ๆ ใหญ่โต ไม่มีกำหนด จึงต้องใช้วัสดุในการก่อสร้างมากและสำเร็จยาก จึงต้องขอสิ่งของและอุปกรณ์การก่อสร้างจากชาวบ้าน ครั้งแล้วครั้งเล่าแม้กระทั่งแรงงานก็ต้องขอมาช่วย

     ชาวบ้านแถบนั้นต่างมีความเอือมระอาไปตาม ๆ กัน เมื่อเห็นพระเดินมาจึงพากันหลบหลีกบ้าง ปิดประตูหน้าต่างบ้างเมินหน้าทำไม่เห็นเสียบ้าง หวาดระแวงถึงขนาดเห็นแม่โคสีคล้ายจีวรพระ ก็พากันหนีด้วยคิดว่าพระมาเรี่ยไรอีกแล้วเป็นต้น

     ต่อมา พระมหากัสสปเดินทางไปรัฐอาฬวี ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านหมู่นั้นเห็นแล้วพากันหวาดสะดุ้งและหลบหนี ยังความประหลาดใจให้เกิดแก่ท่าน เพราะไม่เคยพบมาก่อน ท่านจึงคิดว่าจะต้องมีเหตุมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นแน่

     เมื่อท่านได้สอบถามพวกภิกษุเหล่านั้นทราบความแล้ว จึงรู้สึกสลดใจมาก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงรัฐอาฬวี พระมหากัสสปจึงได้กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบ
     พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิการกระทำของพวกภิกษุเหล่านั้นว่าเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของหมู่ชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของหมู่ชนที่เลื่อมใสอยู่ก่อนแล้ว

     ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีว่า เป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก เป็นคนมักมากไม่สันโดษ คลุกคลี เป็นต้น แล้วทรงนำเอาเรื่องโทษของคนขอจัดมาแสดงไว้ดังนี้

     พญานาคหนีคนขอ ฤษีสองพี่น้อง ตั้งสำนักอาศรมบำเพ็ญพรตอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาคนละแห่ง พญานาคชื่อ มณีกัณฐ์ตัวหนึ่ง มีความเอ็นดูฤษีองค์น้อง จึงขึ้นจากน้ำมาหาทุกวันมาไม่มาเปล่าแถมเอาลำตัวพันรอบ ๆ ฤษีผู้น้อง 7 รอบด้วย ฤษีผู้น้องมีความหวาดกลัวจนซูบผอม ผิวเหลืองคล้ำ มีแต่หนังหุ้มกระดูก

     ฤษีพี่ชายเห็นน้องมีอาการเช่นนั้น สอบถามก็ได้ความว่ากลัวพญานาค ถ้าน้องไม่อยากให้พญานาคมาอีก จงขอแก้วมณีที่ห้อยคอพญานาคเถิด แล้วพญานาคนั้นจะไม่มาหาอีก ถ้าวันต่อมายังมาอีกก็ให้ขออีก คือให้ขอทุกครั้งที่พบกัน

     วันต่อมา พญานาคมณีกัณฐ์ก็มาหาตามเคย พอนาคเข้ามาถึงที่อยู่ฤษีก็ออกปากขอแก้วมณีทันทีว่า

     “ขอท่านจงให้แก้วมณีที่แขวนคอแก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าอยากได้แก้วมณีที่ประดับอกท่าน

     พญานาคใจหายวูบ ความรักใคร่เอ็นดูที่มีต่อฤษีลดลงไปทันที พลางคิดว่าก็ที่เรามีอำนาจถึงปานนี้ก็ด้วยมีแก้วมณีดวงนี้ แก้วมณีดวงนี้จึงเป็นที่รักของเราอย่างยิ่ง เราจึงหวงแหนยิ่งนักจึงรีบกลับไปทันที

     วันต่อมา พญานาคก็มาหาอีก พอเข้ามาใกล้จะถึง ฤษีก็รีบร้องขอแก้วมณีอีก นาคก็เลยต้องหันหลังกลับกลับลงน้ำไปอีก

     ครั้งที่สาม พอพญานาคโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำคงคา ฤษีเห็นแต่ไกลก็รีบร้องขอแก้วมณีทันที นาคได้กล่าวตอบว่า

     “อาหารของเราเกิดจากการบันดาลของแก้วดวงนี้ ข้าพเจ้าจะให้แก้วดวงนี้แก่ท่านได้อย่างไร ? ท่านเป็นคนขอจัดเราจะไม่มาหาท่านอีกต่อไปแล้ว

     ฤษีผู้พี่จึงกล่าวคาถาตอนท้ายเรื่องว่า

     “ถ้ารู้ว่าสิ่งใดเป็นที่รักของเขา ไม่ควรขอสิ่งนั้น คนย่อมเป็นที่เกลียดชังเพราะขอจัด

     นกกลัวคนขอ ภิกษุองค์หนึ่ง ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าแถบภูเขาหิมพานต์ ใกล้ที่สำนักพระนั้น มีหนองน้ำใหญ่นกฝูงใหญ่มาอาศัยกินน้ำนั้น แล้วก็เลยพักอยู่ในป่าใกล้สำนักของภิกษุรูปนั้น

     พระมีความรำคาญด้วยเสียงนกเหล่านั้น เมื่อเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงถามถึงความผาสุก ในการทำความเพียรอยู่ในป่า พระรูปนั้นกราบทูลว่า

     “ข้าพระพุทธเจ้ารำคาญเสียงนก จึงหนีจากป่านั้นมาพระพุทธเจ้าข้า
     “เธอต้องการให้นกเหล่านั้นหนีไปหรือ ? 
     “พระพุทธเจ้าข้า

     “ถ้าเช่นนั้น เธอจงปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อนกเหล่านั้นเข้านอนในป่าเรียบร้อยแล้ว ตอนหัวค่ำเธอร้องดัง ๆ ว่า นกทั้งหลายจงฟังเรา !

นกที่อยู่ในบริเวณนี้ทั้งหมด จงให้ขนแก่เราตัวละหนึ่งขน ประกาศ 3 ครั้ง พอเวลาดึกสองยามเธอก็ไปประกาศดัง ๆ เช่นเดียวกันอีก 3 ครั้ง ๆ และเวลาใกล้รุ่งให้เธอไปประกาศอย่างนี้อีก 3 ครั้ง

     เมื่อภิกษุรูปนั้นเข้าป่า และปฏิบัติตามพระพุทธองค์ทรงแนะ พวกนกเหล่านั้นรู้ว่าพระต้องการขนของเรา และร้องขอขนของเราอยู่ทั้งคืน จึงได้พร้อมใจกันหนีออกไปจากป่านั้น ไม่กลับมาอีกเลย


     



     

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

ภิกษุมหาโจร 5


     1.ภิกษุทั้งหลาย ! มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจะมีพวกร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง เป็นบริวาร แล้วท่องไปเพื่อเบียดเบียนชาวบ้านตามนิคมน้อยใหญ่

     สมัยต่อมา เขาได้มีพวกเป็นร้อยหรือพันแล้ว ได้เที่ยวเบียดเบียนชาวบ้านตามนิคมต่าง ๆ ด้วยตนเองบ้าง ด้วยบริวารบ้าง ฉันใด ?

     ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เลวทรามบางรูป ในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่าเมื่อไรหนอ เราจะมีพวกร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง เป็นบริวาร แล้วเที่ยวจารึกไปในนิคมน้อยใหญ่อันคฤหัสถ์และพรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชาและยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค

     ในสมัยต่อมา เธอเป็นผู้มีภิกษุร้อยหรือพันแวดล้อมแล้วเที่ยวจารึกไปในนิคมน้อยใหญ่อันคฤหัสถ์และพรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชาและยำเกรงแล้ว ได้ปัจจัย 4 ตามความต้องการแล้ว

     ภิกษุทั้งหลาย ! นี่ก็นับว่าเป็นมหาโจรจำพวกที่ 1 ที่มีปรากฏอยู่ในโลก

     2.ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เลวทรามบางรูป ในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัย อันตถาคตประกาศไว้ดีแล้ว ย่อมเป็นผู้โอ้อวด ยกตัว นี่ก็จัดว่าเป็นมหาโจรจำพวกที่ 2 ที่มีอยู่ในโลก

     3.ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เลวทรามบางรูป ในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ ด้วยสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ นี้ก็เป็นมหาโจรจำพวกที่ 3 ที่มีอยู่ในโลก

     4.ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เลวทรามบางรูป ในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ ฯ นี้ก็เป็นมหาโจรจำพวกที่ 4 ที่มีอยู่ในโลก

     5.ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้ก็จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?

     “เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

ทำเพื่อให้คนยกย่องหรือเลื่อมใส



     ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ป่า ด้วยตั้งใจว่าคนจะยกย่องเราด้วยวิธีนี้ ต่อมามีคนยกย่องแล้ว เธอมีความรังเกียจว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ

     จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระพุทธเจ้า ๆ ตรัสว่า
     ภิกษุ ! เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงอยู่ป่าด้วยตั้งใจเช่นนั้น ภิกษุใดอยู่ป่าด้วยตั้งใจเช่นนั้นต้องอาบัติทุกกฎ”  

     ภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาต ด้วยตั้งใจว่าคนจะยกย่องเราด้วยวิธีนี้ ต่อมามีคนยกย่องแล้ว เธอมีความรังเกียจว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ

          จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระพุทธเจ้า ๆ ตรัสว่า
     ภิกษุ ! เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงเที่ยวบิณฑบาตด้วยตั้งใจเช่นนั้น ภิกษุใดเที่ยวบิณฑบาตด้วยตั้งใจเช่นนั้นต้องอาบัติทุกกฎ

     ภิกษุรูปหนึ่งเดินจงกรมอยู่ ด้วยตั้งใจว่าคนจะยกย่องเราด้วยวิธีนี้ ต่อมามีคนยกย่องแล้ว เธอมีความรังเกียจว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ

     จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระพุทธเจ้า ๆ ตรัสว่า
     ภิกษุ ! เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่พึงเดินจงกรมด้วยตั้งใจเช่นนั้น ภิกษุใดเดินจงกรมด้วยตั้งใจเช่นนั้นต้องอาบัติทุกกฎ

ขยายความ การกระทำใด ๆ ก็ตาม ถ้ามุ่งเพื่อละกิเลสตัณหาโดยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงแล้วยึดหลักพระธรรมวินัย เป็นแม่แบบอย่างตรงไปตรงมา ไม่มี ความคิดเน่าในแอบแฝงอยู่ การกระทำนั้น ๆ จะไม่มีปัญหามาก

     ที่เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้น ในวงการคณะสงฆ์ขณะนี้ ก็เกิดจาก ความคิดเน่าในของคนที่ทำเพื่อให้เขายกย่องเลื่อมใส ด้วยวิธีการแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่พระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติไว้ แล้วก็อ้างว่ามาจากพระไตรปิฎกบ้าง อ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อคล้อยตามทิฐิของตนบ้าง

     ทั้งหมดนี้ก็เกิดจากการไม่เอื้อเฟื้อพระวินัย และไม่เคารพพระธรรมนั่นเอง จึงปรากฏออกมาเป็นการแอบแฝง บิดเบือน ล้มล้าง เหยียบย่ำ ฯ ในรูปแบบที่จะทำให้คนนับถือ ยกย่องด้วยประการต่าง ๆ

     ได้โปรดเถิดพุทธบริษัททั้งหลาย ! จงมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปกันบ้างเถิด พระพุทธองค์ทรงมีความเมตตาและพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ สู้เสียสละความสุขส่วนตน กระทำตนเป็นแบบอย่าง ทรงวางรากฐานไว้ให้พวกเราได้พึ่งพระบารมี นับว่าเป็นพระคุณล้นเหลือ สุดจะประมาณได้


     อย่าได้คิดสั้น ด้วยการหวังเพียงลาภ ยศ สรรเสริญ และ สุข อันเป็นของมายาจอมปลอม ด้วยการเหยียบย่ำ พระธรรมวินัย ต่อไปอีกเลย

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ไม่บัญญัติสิกขาบทใหม่


     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันเมืองสาวัตถี ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะทรงปลีกพระองค์ หลีกเร้นอยู่พระองค์เดียวตลอด 3 เดือน รับสั่งว่าอย่าให้ผู้ใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ยกเวันแต่เฉพาะภิกษุที่นำอาหารเข้าไปไปถวายรูปเดียวเท่านั้น

      เมื่อภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธาณัติแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดเข้าไปเฝ้าเลย นอกจากภิกษุผู้นำอาหารไปถวายเพียงรูปเดียว แต่คณะสงฆ์ในเมืองสาวัตถี ได้ตั้งเป็นกฎไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงหลีกเร้นอยู่ 3 เดือน ไม่ทรงให้ใครเข้าเฝ้า นอกจากภิกษุผู้นำอาหารเข้าไปเพียงรูปเดียว ถ้าภิกษุรูปใดเข้าไปต้องปรับอาบัติปาจิตตีย์ กติกานี้รู้กันอยู่ทั่วไป

     ต่อมา พระอุปเสนวังคันตบุตร กับหมู่ภิกษุเดินทางมาเมืองสาวัตถี ไม่ทราบกติกานี้ จึงตรงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธองค์ทรงปราศรัยตามพุทธประเพณีแล้ว ทรงพอพระทัยที่ทรงทราบว่า ภิกษุสานุศิษย์ของพระอุปเสน ทรงผ้าบังสุกุลตามพระอุปัชฌาย์ ด้วยพระอุปเสนท่านทรงผ้าบังสุกุล จึงตั้งกฎว่าผู้ที่จะบวชเป็นศิษย์ของท่าน จะต้องนุ่งห่มผ้าบังสุกุลด้วย จึงจะยอมบวชให้

     พระพุทธองค์ทรงประทานสาธุการว่า
     “ดีแล้ว...ดีแล้ว...อุปเสน เธอแนะนำบริษัทได้ดีจริง ๆ เออ...ก็เธอรู้กติกาของสงฆ์ในนครสาวัตถีไหม อุปเสน ? 

     “ไม่ทราบเกล้า ฯ พระพุทธเจ้าข้า
     อุปเสน ! สงฆ์ในนครสาวัตถีนี้ ได้ตั้งกติกากันไว้ว่าไม่ให้พระรูปใดไปหาเรานอกจากพระที่นำอาหารรูปเดียวภิกษุใดฝ่าฝืนปรับอาบัติปาจิตตีย์

     พระอุปเสนกราบทูลว่า
    “แม้ว่าสงฆ์ในนครสาวัตถีจะตั้งกติกาไว้ก็ตาม แต่พวกข้าพระพุทธเจ้า จะไม่แต่งตั้งสิกขาบท ที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติไว้ และจะไม่เพิกถอนสิกขาบท ที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว จะสมาทานประพฤติปฏิบัติอยู่ในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น

     ดีแล้ว...ดีแล้ว...อุปเสน ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่เรายังมิได้บัญญติและไม่ควรเพิกถอนสิกขาบท ที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบท ตามที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว

     เราอนุญาตให้พวกภิกษุที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร และทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้ามาหาเราได้ตามสะดวก

     เมื่อพระอุปเสนกลับออกมา พวกภิกษุเจ้าถิ่นที่รออยู่ที่ประตูพระวิหาร คอยจะปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่พระอุปเสน ครั้นพระอุปเสนเล่าความที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ผู้ที่ไม่ตั้งกฎขึ้นใหม่ ภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้น ก็พากันเห็นจริงตามพระอุปเสน

     ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ภิกษุที่ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ต่างก็พร้อมใจกันสมาทานอารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ และบังสุกูลิกธุดงค์ โดยพร้อมเพรียงกัน


ขยายความ ภิกษุทุกวันนี้ ชอบทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สั่ง ชอบล้มล้างในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่นใช้จีวรไม่มีขันธ์ ไม่ฉันเนื้อและปลา เป็นต้น ล้วนแต่ตั้งตัวเป็นศาสดาใหม่ แต่ใช้ชื่อเก่า เพื่อหวังให้ชาวบ้านเลื่อมใส สิ่งเหล่านี้ก็คือมาดใหม่ที่ทำลายคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

บัญญัติ 5 ประการของพระเทวทัตต์


     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพระเทวทัตต์ผิดหวังในอุบายต่าง ๆ ที่คิดทำลายพระพุทธเจ้า เพื่อหวังจะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองหลายครั้งหลายคราด้วยกัน จึงคิดอุบายใหม่ด้วยการเกลี้ยกล่อมพระบวชใหม่ ที่ยังไม่รู้หลักธรรมวินัยเพียงพอ เข้ามาเป็นพวกเพื่อแยกไปทำอุโบสถต่างหาก ไม่ขึ้นต่อพระพุทธเจ้า

     โดยพระเทวทัตต์ยกเอาวัตถุ 5 ประการ มาเป็นข้ออ้างให้พระบวชใหม่หลงเชื่อ เมื่อได้พวกพอสมควรแล้ว จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเสนอบัญญัติ 5 ประการ ดังนี้

     1.ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่มีความผิด
     2.ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต รูปใดรับกิจนิมนต์มีความผิด
     3.ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต รูปใดใช้ผ้าคหบดีมีความผิด
     4.ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต รูปใดอยู่ที่มุงที่บังมีความผิด
     5.ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันมีความผิด

     พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า

           “ อย่าเลยเทวทัตต์ ! ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่บ้าน ภิกษุใดปรารถนาก็จงเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีการนิมนต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงถือผ้าบังสุกุล ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีผ้าคหบดี

          เทวทัตต์ ! เราอนุญาตรุกขมูลเสนาสนะตลอด 8 เดือนเท่านั้น

      เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ 3 อย่างคือ

          1.ไม่ได้เห็น  2. ไม่ได้ยิน 3. ไม่ได้รังเกียจ



พระเทวทัตถูกธรณีสูบ ขอบคุณภาพจากเว็บ Phuttha.com

ขยายความ การที่พระเทวทัตต์ทูลขอบัญญัติของตน 5 ประการนั้น ก็ด้วยรู้แจ้งแก่ใจแล้วว่าพระพุทธองค์จะไม่ทรงอนุญาตมีเหตุผลที่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปไม่ได้ ดังนี้

     1.เรื่องให้ภิกษุทุกรูปอยู่ในป่าตลอดชีวิต เป็นการฝืนกับจริตของคนส่วนมากแม้แต่พระเทวทัตต์เองก็ไม่ได้ปฏิบัติ ที่ทูลขอก็เพื่ออวดเคร่งเท่านั้น

     2.เรื่องให้ภิกษุบิณฑบาตตลอดชีวิต เป็นไปได้ยากเพราะพระมีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านอยากได้บุญต้องการจะเลี้ยงพระในพิธีต่าง ๆ จะทำอย่างไร บางครั้งพระเจ็บไข้หรือดินฟ้าอากาศไม่อำนวย ออกบิณฑบาตไม่ได้จะทำอย่างไร ?

     3.เรื่องให้พระภิกษุใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต สมัยนี้ยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้ทิ้งศพไว้ตามป่าช้า แม้เศษผ้าเล็ก ๆ ตามกองขยะก็หายาก และพระก็มีจำนวนมาก

     4.เรื่องอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ในฤดูร้อนพอทำได้ ถ้าหน้าฝนจะลำบากด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

     5.เรื่องห้ามภิกษุฉันปลาและเนื้อต่าง ๆ นั้น เป็นสิ่งที่ขัดกับเพศภาวะ เพราะพระฝากปากท้องไว้กับชาวบ้าน ไม่ได้หุงหาเอง ถ้าพระเลือกจะกินอย่างนั้นอย่างนี้ก็กลายเป็นคนเลี้ยงยาก ขัดพุทธประสงค์

     พระเทวทัตต์เสนอบัญญัติ 5 ข้อ ก็เพื่อเป็นอุบายแยกสงฆ์ และเมื่อพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต พระเทวทัตต์ก็ดีใจที่สมด้วยอุบายของตน


     ฉะนั้น ผู้หวังจะเป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้า จึงไม่ควรจะนำเอาอุบายของพระเทวทัตต์ไปใช้ เพราะผู้เป็นต้นบัญญัติ 5 ประการ ขณะนี้กำลังอยู่ในอเวจีมหานรก



เหตุแห่งการบัญญัติพระวินัย 10



  1.เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
  2.เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
  3.เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
  4.เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
  5.เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
  6.เพื่อกำจัดอาสวะอันจะบังเกิดในอนาคต
  7.เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
  8.เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
  9.เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
10.เพื่อถือตามพระวินัย

ขยายความ พระวินัยได้แก่ศีลของพระ ทางพระพุทธศาสนาถือว่าศีลเป็นรากแก้วของศาสนา เปรียบเสมือนรากแก้วของต้นไม้


     ศีลเป็นรากฐานของความดีต่าง ๆ ในการทำกิจเกี่ยวกับศาสนา จึงนิยมให้รับศีลก่อน คล้ายกับเป็นของแถม ที่พระยัดเยียดให้ เพราะเป็นของที่ให้ง่าย และให้เปล่า ๆ ผู้รับก็ไม่ค่อยเต็มใจรับ และรับแล้วก็ไม่ค่อยเต็มใจรักษา ศีลจึงเป็น แก้วมณีในตรม ที่ทั้งชาววัดและชาวบ้านมองไม่เห็นคุณค่า

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

เหตุที่พระศาสนาตั้งอยู่ไม่นานหรือนาน


   
  พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประมาณ 500 รูป     พระสารีบุตรหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดว่าพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนหนอ ที่ดำรงอยู่ไม่ได้นานและพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนหนอดำรงอยู่ได้นาน     ครั้นแล้วจึงได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามถึงความสงสัยนั้น พระพุทธองค์ตรัสตอบพอสรุปได้ว่า     พระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี สิขี และ เวสสภูทั้งสามพระองค์นี้ดำรงอยู่ได้ไม่นาน เหตุเพราะทรงท้อพระทัย ที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่เหล่าสาวกและทั้งมิได้ทรงบัญญัติพระวินัยด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์ปรินิพพานพระศาสนาของพระองค์จึงอันตรธานหมดไปโดยเร็ว     ทรงเปรียบว่า บรรดาคฤหัสถ์ที่ออกบวชในศาสนา โดยไม่มีวินัยควบคุมนั้น เหมือนดอกไม้ต่างพรรณ ที่กองไว้บนพื้นกระดาน โดยไม่มีด้ายร้อยให้ติดกัน ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้ง่าย ฉันใดก็ฉันนั้น

     ส่วนพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ โกนาคมนะและ กัสสปะ ทั้งสามพระองค์ดำรงอยู่ได้นาน เหตุเพราะไม่ทรงท้อพระทัย ที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก และทั้งยังได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์ปรินิพพานแล้ว พระศาสนาของพระองค์จึงดำรงอยู่ได้ยืนนาน     ทรงเปรียบว่า บรรดาคฤหัสถ์ต่างชาติ ต่างสกุลที่ออกบวช โดยมีวินัยควบคุมนั้น เหมือนดอกไม้ต่างพรรณ ที่กองไว้บนพื้นกระดาน โดยมีด้ายร้อยไว้ติดกัน ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น     เมื่อทราบเหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญของพระศาสนาดังนี้แล้ว พระสารีบุตรได้กราบทูล ให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ พระวินัย เพื่อให้พระศาสนายั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน     พระพุทธเจ้าตรัสห้ามว่า รอให้มีเหตุเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยบัญญัติพระวินัย และในกาลนั้นก็จะทรงแสดงปาติโมกข์ด้วย เพราะทรงทราบเหตุการณ์ในอนาคตแล้ว     ต่อมาไม่นาน พระสุทินน์ลูกเศรษฐีชาวบ้านกลันทะ เมืองเวสาลี ก็เป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติพระวินัยเป็นข้อแรก ซึ่งภิกษุสงฆ์ยังคงใช้อยู่จนทุกวันนี้ 

ศีลเป็นพื้นฐาน

     ศีลเป็นพื้นฐานภิกษุทั้งหลาย ! การงานที่จะพึงทำด้วยกำลัง อย่างใดอย่างหนึ่งที่คนทำอยู่ทั้งหมดนั้น ต้องอาศัยแผ่นดิน และทำอยู่บนดิน จึงจะทำได้
    การงานที่จะต้องทำด้วยกำลังเหล่านี้ คนย่อมทำได้ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ 8 กระทำให้มากซึ่งอริยมรรค อันประกอบ ด้วยองค์ 8 ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ?

    บทความเกี่ยวกับภาคพระวินัย คัดมาจากหนังสือ พระไตรปิฎก ฉบับสาระ ธรรมรักษาจัดทำ จะเสนอไปเรื่อย ๆ     



อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...