วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พระฉันเนื้อที่บริสุทธิ์

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สวนอัมพวัน ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ กรุงราชคฤห์ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ เมื่อถวายบังคมแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า
     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจง เพื่อสมณโคดม เมื่อพระองค์ทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้
     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม และพระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้
     ผู้ที่กล่าวเช่นนี้ จะได้ชื่อว่าไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริงละหรือ ?
     พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
     “ดูก่อนชีวก ! ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่า กล่าวตรงกับเรากล่าวหามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เรา ด้วยคำอันไม่เป็นจริง
     ดูก่อนชีวก ! เรากล่าวว่าเนื้อไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ 3 ประการ คือ
              - เนื้อที่ตนเห็น
              - เนื้อที่ตนได้ยิน
             - เนื้อที่ตนรังเกียจ
     ดูก่อนชีวก ! เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ 3 คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน และเนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ...
     ดูก่อนชีวก ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 อยู่ ที่ 2... ที่ 3... ที่ 4 อยู่ ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า โดยความมีตนทั่วไปในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
     ดูก่อนชีวก ! ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบปาบมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ 5 ประการคือ
     1. ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
     2. สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
     3. ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
     4. สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่า ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
     5. ผู้นั้นย่อมยังตถาคต และสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อ ที่ไม่สมควรแก่สมณะชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
     ดูก่อนชีวก ! ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบปาบมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ 5 ประการนี้”
     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันไม่มีโทษหนอ...”
ขยายความ พระสูตรนี้มักจะถูกบิดเบือน จากพระที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์ โดยตัดคำว่า “เจาะจง” ออก แล้วก็กลายเป็นว่า พระพุทธเจ้าห้ามพระฉันเนื้อสัตว์โดยสิ้นเชิง โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
     นับว่าเป็นนิมิตรดีของชาวพุทธไทยอยู่ข้อหนึ่ง ที่ผู้อ้างตัวว่าเป็นสาวกแท้ ของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ล้วนแต่ไม่รู้ภาษาบาลี และแปลบาลีไม่เป็น มิฉะนั้นคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า จะถูกแปลอย่างเลอะเทอะยิ่งกว่าปัจจุบัน
     ความจริงในเรื่องพระกับเนื้อสัตว์นี้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย ผู้ที่ฉันเนื้อสัตว์ที่เขาเจาะจงและรู้อยู่ จะต้องอาบัติก็เพียง"ทุกกฏ"อันเป็นอาบัติหางแถวเท่านั้น
     การที่พระฉันหรือไม่ฉันเนื้อสัตว์ มิได้เป็นเครื่องวัดว่าใครเคร่ง หรือดีกว่าแต่อย่างใด ถ้าผู้นั้นยังตามไปด้วยกิเลส ตัณหา มานะและทิฐิ
     โดยความจริงแล้ว การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น มิได้อยู่ที่การกินอะไร แต่อยู่ที่การกินอะไรมากกว่า คือกินด้วย ตัณหา มานะ และทิฐิ หรือกินด้วยการพิจารณาถูกต้องตามหลัก “ตังขณิกปัจจเวกขณ์” หรือไม่ ?
     เนื้อสัตว์ที่ควรแก่ภิกษุบริโภค ตามพุทธานุญาตนั้น หมายถึงเนื้อที่บริสุทธิ์ตามเงื่อนไข 3 ประการคือ
-     เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น ว่าเขาฆ่าเพื่อทำอาหารมาถวายพระโดยตรง(คือนอกเหนือไปจากที่ชาวบ้านเขากินกันโดยปรกติ)
-     เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน ว่าเขาพูดกันว่าจะฆ่าสัตว์ตัวนี้ เพื่อทำอาหารเอาไปถวายพระ
-     เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ว่าเขาฆ่าเพื่อตนโดยเฉพาะ หรือเพียงแต่ระแวงสงสัย
แต่เป็นเนื้อที่ทำเป็นอาหาร ที่เขาบริโภคกันอยู่เป็นปรกติ แล้วแบ่งเอามาถวายพระ อย่างนี้พระฉันได้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ถ้าได้เห็น ได้ยินหรือเพียงแต่นึกรังเกียจ แล้วยังขืนฉันก็ต้องอาบัติทุกกฏ
     ในเรื่องเนื้อสัตว์นี้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้เฉพาะพระเท่านั้น ชาวบ้านไม่เกี่ยว จะกินหรือไม่กินก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดหรือความดีอะไร ถ้าเนื้อนั้นเราไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า ก็ไม่เป็นบาปเป็นกรรมอะไรเลย
     ที่พระพุทธองค์ทรงมีเงื่อนไข ในการฉันเนื้อสัตว์ของพระก็เพื่อให้พระทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ไม่เป็นภาระแก่สังคม เขากินอยู่กันอย่างไร ก็ทรงให้คล้อยตามแต่ไม่ถึงกับสนับสนุนให้ เขาฆ่าสัตว์ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ ที่เรียกว่า “เจาะจง” ก็ถือว่าใช้ได้.


    

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ศีล 3 ตอนที่ 4 (มหาศีล) ตอนจบ

     1. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีกรรมด้วยโลหิต
     เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์ คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลถูกกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     2. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     3. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ ๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     4. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง
     จันทรคราสจักเป็นผลอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้น จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตก จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมอง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่าง จักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     5. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภักษาหาได้ง่าย จักมีภักษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนนคำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     6. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้าบวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     7. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกระเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกระเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาแก้ปวดศรีษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     “มหาบพิตร ! ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เลย เพราะศีลสังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มูรฐาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เพราะราชศัตรูนั้น
     มหาบพิตร ! ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
          มหาบพิตร ! ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล”
     ต่อจากนั้น ทรงแสดงข้อปฏิบัติของภิกษุไปตามลำดับ มีการสำรวมอินทรีย์ 6 มีการฝึกจิตในที่สงัด มีการกำจัดนิวรณ์ 5 ถึงการบรรลุฌาน จนถึงชั้นจิตบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเป็นที่สุด
     พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงมีความเลื่อมใส ประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต และทรงแสดงโทษของตนที่ปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา พระพุทธองค์ทรงรับทราบ แล้วพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับ







     

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ศีล 3 ตอนที่ 3 (มัชฌิมศีล)

       1. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้คือ พืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     2. ภิกษุเว้นขาดจาการบริโภค ของที่ทำการสะสมไว้เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     3. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     4. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งจากความประมาท เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุก แถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อย ๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อย ๆ เล่นธนูน้อย ๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     5. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอน บนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอน อันสูงใหญ่เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะ วิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้าย มีสีหะและเสือเป็นต้น
     เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน 16 คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีที่ทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     6. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบ การประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     7. ภิกษุเว้นขาดจากดิรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบดิรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     8. ภิกษุเว้นขาดจากกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายกล่าวถ้ยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่นว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านรู้จักทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร
     ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อนท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสียถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     9. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม และการรับใช้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรม และการรับใช้เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     10. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวง และการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็น ศีลของเธอประการหนึ่ง

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ศีล 3 ตอนที่ 2 (จุลศีล)

        “มหาบพิตร ! อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ?"
     1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางฑัณฑะ วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     2. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     3.เธอละกรรมอันป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุน อันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     4. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริงดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     5. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     6. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
     7. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง
     8. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
     9. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล
     10. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
     11. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
     12. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอน บนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
     13. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน
     14. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
     15. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
     16. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
     17. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
     18. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
     19. เธอเว้นขาดจาการรับไก่และสุกร
     20. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
     21. เธอเว้นขาดจากการรับไร่ นา และที่ดิน
     22. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
     23. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย
     24. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด
     25. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง
     26. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง (โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ศีล 3

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สวนอัมพวัน กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประมาณ 1250 รูป วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ ในราตรีพระจันทร์เต็มดวง
     พระเจ้าอชาตศัตรู ประทับอยู่บนปราสาทชั้นบน ทรงทอดพระเนตรเห็นเดือนหงายกระจ่างดี ตรัสถามอำมาตย์ว่า ควรจะไปสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์ใดดี
     หมู่อำมาตย์ต่างกราบทูลถึงคณาจารย์ เจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่คนเคยรู้จักถวาย แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มิได้ทรงโปรด จึงตรัสถามหมอชีวก โกมารภัจจ์ ซึ่งเฝ้าอยู่ในที่นั้นว่า
     “ชีวกผู้สหาย เธอทำไมจึงนิ่งเสียเล่า ?
     หมอชีวกจึงกราบทูลว่า
     “ขอเดชะ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สวนอัมพวันของข้าพระพุทธเจ้า ขอเชิญพระองค์เสด็จไปเฝ้าเถิด”

     หมอชีวกจึงนำเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า หลังจากทรงอภิวาทพระพุทธเจ้า และทรงประนมอัญชลีแก่ภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ตรัสถามปัญหาต่าง ๆ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงศีล 3 ประเภทและข้อปฏิบัติของภิกษุตามลำดับ (โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ความลับไม่มีในพระพุทธเจ้า

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ บ้านเวฬุวคามเมืองเวสาลี รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายจำพรรษารอบ ๆ เมืองเวสาลี นับเป็นพรรษาสุดท้าย ก่อนปรินิพพานของพระพุทธองค์ ในพรรษานั้นทรงประชวรหนัก ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่ทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธจนหาย
     พระอานนท์เห็นพระโรคของพระพุทธองค์แล้ว ได้กราบทูลหลังทรงหายประชวรแล้วว่า
     “..กายของข้าพระองค์ ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฎแก่ข้าพระองค์... ก็แต่ว่า ข้าพระองค์มีความเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคจักยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน จนกว่าจะได้ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง(ก่อน)
     อานนท์ ! ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราได้แสดงแล้วกระทำไม่ให้มีในมีนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต
     ผู้ใดจะพึงคิดอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จักเชิดชูเรา ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่
     อานนท์ ! ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จักเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้ว กล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวหนึ่ง
     อานนท์ ! บัดนี้เราแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง 80 ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ แม้ฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่

ขยายความ จากพระสูตรนี้ ให้แง่คิดแก่ชาวพุทธ 2 ประการคือ พระพุทธเจ้ามิได้มีความลับอะไรแก่สาวก บรรดาหลักธรรมคำสอนใด ๆ มิได้ทรงปกปิดไว้เฉพาะองค์  หรือมิได้ทรงคิดว่า จะเอาไว้แสดงในวาระสุดท้าย แห่งพระชนม์ชีพก็หามิได้ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกท่าน ควรจะภูมิใจที่เรามีพระศาสดาที่ทรงมีน้ำพระทัยเมตตาและกรุณาถึงที่สุดจริง
     อีกประการหนึ่ง สังขารร่างกายของพระองค์ ก็มิได้แตกต่างจากพวกเราเลย ทรงมีพระอาการแก่ เจ็บ ทรมาน และปรินิพพาน เช่นกับเราทุกประการ
     ดังนั้นพระธรรมและวินัย ที่ทรงบัญญัติและสั่งสอนจึงมิได้เป็นที่เหลือวิสัยของชาวพุทธทุกคน ที่จะทำตามได้อย่างแน่นอน
    

     

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...