วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

ชีวิตอนัตตา

     สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้ อยุชฌบุรี ณ ที่นั้นแลพระพุทธองค์ทรงเปรียบชีวิต ของคนทุกชีวิตที่เกิดมาแล้ว หาตัวตนมิได้และไม่มีสาระเหมือนสิ่งไม่มีสาระ 5 ประการคือ
     1.กลุ่มฟองน้ำในแม่น้ำ ในแม่น้ำคงคานี้ มีกลุ่มฟองน้ำใหญ่ลอยมา คนตาดีที่มองเห็นกลุ่มฟองน้ำนั้น โดยแยบคายเมื่อเพ่งพิจารณาอยู่ กลุ่มฟองน้ำนั้นย่อมเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ฉันใด
     รูป (ขันธ์) ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย รูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ฉันนั้น
     2.ฟองน้ำในฤดูฝน เมื่อฝนตกลงในฤดูฝน ฟองน้ำที่เกิดจากเมล็ดฝนนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ คนตาดีย่อมมองเห็นฟองน้ำนั้น เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ฟองน้ำนั้นก็ปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ ฉันใด
     เวทนา(ขันธ์) อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันอยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย เวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ฉันนั้น
     3.พยับแดดในฤดูร้อน เมื่อเที่ยงวันของฤดูร้อน พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับ คนตาดีย่อมมองเห็นพยับแดดนั้น เมื่อเพ่งพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมเห็นพยับแดดนั้นเป็นของว่างเปล่าหาสาระในพยับแดดมิได้ ฉันใด
     สัญญา (ขันธ์) อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันอยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ เมื่อพิจารณาโดยแยบคายย่อมเห็นสัญญานั้นเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ ฉันนั้น
     4.หาแก่นในต้นกล้วย คนที่ต้องการไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือมีดคมเข้าไปในป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ ต้นตรงดี จึงตัดที่โคนและปลายกล้วยแล้วจึงปอกเอากาบออก เมื่อเขาปอกเอากาบออกหมด ไม่พบแม้แต่กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้นเลย ไม่ต้องพูดถึงแก่นไม้
     เมื่อคนได้เพ่งพิจารณา ถึงกล้วยต้นนั้นโดยแยบคาย แล้วไม่พบแก่นไม้ พบแต่ความว่างเปล่า (จากแก่นไม้) ฉันใด
     สังขาร (ขันธ์) อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันอยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ เมื่อเพ่งพิจารณาสังขารนั้น โดยแยบคายแล้ว สังขารนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่าหาสาระมิได้ ฉันนั้น
     5.นักเล่นกล นักเล่นกลในที่สาธารณะ คนตาดีย่อมเห็นการเล่นกลนั้น เป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ ฉันใด
     วิญญาณ (ขันธ์) อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันอยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย วิญญาณนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ ฉันนั้น
     “ภิกษุทั้งหลาย ! อริยะสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ
     เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายความกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น...”

     

วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560

โลกว่างเปล่า

พระอานนท์ :
ที่เรียกว่า โลกว่างเปล่า โลกว่างเปล่า ดังนี้
ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า ?
พระพุทธเจ้า :
อานนท์ ! เพราะว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน ฉะนั้น จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า
อะไรเล่าว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน ?
จักษุว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน
รูปว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน
จักษุวิญญาณว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน
จักษุสัมผัสว่างเปล่าจากตน หรือของ ๆ ตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน  โสด...ฆาน...ชิวหา...กาย...มโน...
     ธรรมมารมณ์ว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน
มโนวิญญาณว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน มโนสัมผัสว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน
     อานนท์ ! เพราะว่างเปล่าจากตน หรือจากของ ๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่าโลกว่างเปล่า

ขยายความ คำว่า “ว่างเปล่า” ในที่นี้เป็นภาษาธรรม 
     การศึกษาธรรมะเพื่อความดับทุกข์ หรือต้นเหตุของความทุกข์นั้นเราจะต้องแยกภาษาโลก กับภาษาธรรมออกจากกันให้ได้ มิฉะนั้นจะไม่อาจเข้าถึงแก่นของธรรมได้ ขอยกตัวอย่างเช่น
     พระพุทธองค์ตรัสว่า “อานนท์ ! เราหิวนัก เรากระหายนัก เราเมื่อยนัก จักดื่ม จักเอนหลัง...” ดังนี้ จัดเป็น ภาษาคน หรือ ภาษาโลก
     ส่วนข้อความในพระสูตรนี้ จัดเป็นภาษาธรรม คือในโลกนี้มีอะไร ๆ ทุกอย่าง และพระพุทธองค์ก็ทรงรับรองว่ามีอยู่จริง
แต่การอนุวัตรตามสิ่งเหล่านั้น เป็น “โลกีย์” เรื่องของโลก หรือสำหรับผู้ที่ยังข้องอยู่ในโลก
     ส่วนการปฏิบัติเมื่อตาเป็นต้น เห็นรูปแล้วเกิดความว่างเปล่านั้น คือว่างเปล่าจากความยึดถือ ว่าเป็นตัวตน เราเขา ที่เรียกว่า “อุปทาน” “ตัณหา” “มานะ” และ “ทิฐิ” นั่นเอง จัดเป็น “โลกุตระ”
     การศึกษาธรรมะนั้น มีศัพท์แสงเป็นภาษาพระมาก ยากที่คนไม่รู้ภาษาบาลีจะเข้าใจได้ การถามผู้รู้หรือบัณฑิต จึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก การคบหากับบัณฑิตท่านจึงจัดว่าเป็นมงคลประการหนึ่ง
     ถ้าตีศัพท์ธรรมะแตก และเข้าใจความมุ่งหมายถูกต้อง การศึกษาธรรมะจึงเป็นเรื่องสนุก และจะเป็นเหตุให้ปฏิบัติไม่ผิดด้วย



อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...