วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วิธีชนะตัณหา

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม ในนครสาวัตถี ครั้งนั้นพระอินทร์ได้เข้าไปเฝ้า เมื่อถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า
     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรม เป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลส เป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ?
     พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
     “ดูก่อนจอมเทพ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น  ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
     ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น
     เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้”

ขยายความ หัวใจของพระสูตรนี้ อยู่ตรงที่ว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” คำว่า “ธรรม” ในที่นี้ หมายถึงทุกสิ่งในโลกทุกโลก ไม่มียกเว้นอะไรหมด คำว่า “ยึดมั่น” ในที่นี้ หมายถึงการผูกพันด้วยกายและใจ โดยมีตัวตน เราเขา เข้ามาเป็นแกนนำ
     ในพระสูตรนี้ ท่านระบุไปที่ “เวทนา” คือเมื่อสัมผัสหรือกระทบกับอารมณ์ใด ที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเฉย ๆ ให้ตอบรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่แน่นอน ไม่คงที่เสมอไป มองให้เห็น “ความคืน” ของสิ่งเหล่านั้น
     ถ้าเรามองเห็นเป็นเที่ยง ยั่งยืน ก็ไม่มีทางจะสละคืนได้ มีแต่จะถือเอา จะยึดไว้เป็นของเรา การมองเห็นทุกสิ่งล้วนต้อง “สละคืน” ก็มีไม่ได้เลย
     สาระของพระสูตรนี้ จึงอยู่ที่การเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงของทุกสิ่ง ว่ายึดไม่ได้ ถือไม่ได้ ด้วยเหตุ 2 ประการ คือไม่มีอะไรที่จะถืออย่างหนึ่ง กับเมื่อยึดถือแล้ว จะเกิดความทุกข์ในทันที
     ถ้าจะถือว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ก็จัดได้สมบูรณ์ เพราะไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมสายไหนก็ตาม ถ้ายังละความอยากหรือตัดความยึดถือไม่ได้ก็อย่าหวังเลยว่าจะชนะทุกข์ หรืออยู่เหนือความทุกข์ได้
     ฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรมทุกประเภท ถ้าหวังความอิสระแห่งจิตอย่างแท้จริงแล้ว จะต้องตีด่านตัณหา คือความอยากและด่านอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ในตัวตน บุคคล เรา เขา ให้แตกเสียก่อน และเครื่องมือที่จะตีด่านตัณหา และอุปาทาน ก็มีอยู่เหลือเฟือในพระไตรปิฏกแล้ว อย่ามัวอ่านเพื่อประดับความรู้ หรือเพื่อความเป็นนักปราชญ์อยู่เลย
     ชีวิตของเราเป็นของน้อย อย่ามัวเสียเวลาอยู่เลย จงรีบศึกษาแล้วหาวิธีดับทุกข์โดยเร็วเถิด วันและเวลาไม่เคยคอยใคร เมื่อมีโอกาสจงรีบปฏิบัติเถิด!


วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ทางไปของจิตที่เศร้าหมองหรือผ่องใส

     ภิกษุทั้งหลาย ! ผ้าที่เศร้าหมองมลทินจับ ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้น ใส่ลงในน้ำย้อมใด ๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ฯ
     ผ้านั้น พึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
     เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉันใด
     เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น
     ผ้าที่บริสุทธิ์หมดจด ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้น ใส่ลงในน้ำย้อมใด ๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพูฯ
     ผ้านั้น พึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมดี มีสีสด ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
     เพราะผ้าเป็นของบริสุทธิ์ ฉันใด
     เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น”

ขยายความ สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง คือ 1.อภิชฌาวิสมโลภะ ความละโมบไม่สม่ำเสมอ 2.พยาบาท ปองร้ายเขา 3.โกธะ โกธร 4.อุปนาหะ ผูกโกธรไว้ 5.มักขะ ลบหลู่คุณท่าน 6.ปลาสะ ตีเสมอ 7.อิสสา ริษยา 8.มัจฉริยะ ตระหนี่ 9.มายา มารยา 10.สาเฐยยะ โอ้อวด 11.ถัมภะ หัวดื้อ 12.สารัมภะ แข่งดี 13.มานะ ถือตัว 14.อติมานะ ดูหมิ่นท่าน 15.มทะ มัวเมา 16.ปมาทะ ประมาท
     สิ่งที่ทำให้จิตผ่องใส ก็มีนัยะตรงข้ามจากนี้
     ทุคติ คือ คติชั่ว ภูมิชั่ว ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย

     สุคติ คือ คติดี ทางไปที่ดี ได้แก่ มนุษย์และเทวดา

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ธรรมที่ไม่เสื่อมของภิกษุ 7

     พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ กรุงราชคฤห์ ได้ทรงแสดงธรรมที่ไม่เสื่อมของภิกษุ เรียกว่า “อปริหานิยธรรม” ที่ภิกษุปฏิบัติตามแล้ว จะไม่มีความเสื่อมเกิดขึ้นเลย คือ
     1.พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการงาน ไม่ยินดีแล้วในการงาน ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน
     2.พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการคุย ไม่ยินดีแล้วในการคุย ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการคุย
     3.พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีแล้วในการนอนหลับ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
     4.พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีแล้วในความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบความคลุกคลีด้วยหมู่
     5.พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้มีความปราถนาลามก ไม่ลุอำนาจแก่ความปราถนาลามก
     6.พวกภิกษุจักเป็นผู้ไม่มีมิตรชั่ว ไม่มีสหายชั่ว ไม่คบคนชั่ว
     7.พวกภิกษุจักไม่ถึงความนอนใจในระหว่าง เพราะการบรรลุคุณวิเศษเพียงขั้นต่ำ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
     “ภิกษุทั้งหลาย ! อปริหานิยธรรมทั้ง 7 นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ภิกษุจักสนใจ ในอปริหานิยธรรมทั้ง 7 นี้อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมเพียงนั้น”

ขยายความ ธรรมที่ไม่เสื่อมของภิกษุ 7 ประการนี้ มุ่งหมายเฉพาะขณะปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้น
     คำว่า “ไม่เป็นผู้ชอบการงาน” หมายความว่า การทำการงานต่าง ๆ ทำให้เสียอารมณ์กรรมฐาน กล่าวคือขาดสติและสัมปชัญญะได้ง่าย อีกทั้งเป็นเหตุให้ห่วงกังวลด้วย จึงจัดว่าเป็นอุปสรรค แก่การปฏิบัติประการหนึ่ง
     คำว่า “ไม่เป็นผู้ชอบการคุย” หมายความว่า การคุยมากย่อมเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งได้ร้อยแปด ยากที่จะทำจิตให้สงบได้
     คำว่า “ไม่เป็นผู้ชอบการนอนหลับ” หมายความว่า ในขณะปฏิบัติที่จะให้ได้ผลดีนั้น ต้องนอนให้น้อย มิใช่ห้ามมิให้นอนเลย การนอนมากทำให้จิตเซื่องซึมสมองทึบปัญญาทึบ แต่ถ้าไม่นอนเลย หรือนอนน้อยจนเกินไป ก็เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติเช่นกัน
     คำว่า “ไม่เป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ” หมายความว่า การคลุกคลีทำให้จิตไม่สงบ หรือทำให้สงบยาก  เมื่อจิตไม่สงบก็จะเบื่อหน่ายในการปฏิบัติ
     คำว่า “ไม่เป็นผู้มีความปราถนาลามก” หมายความว่าการคิดในเรื่องบาปอกุศลต่าง ๆ นั้น ทำให้จิตตกต่ำ เศร้าหมอง จึงจัดเป็นอุปสรรค
     คำว่า “ไม่มีมิตรชั่วหรือไม่คบคนชั่ว” หมายความว่าคนชั่วนั้นย่อมจะแนะนำให้เกิดความท้อถอยในการปฏิบัติด้วยประการต่าง ๆ เมื่อได้ยินได้ฟังบ่อยเข้า ก็อาจเลิกปฏิบัติไปในที่สุดได้

     คำว่า “ไม่ถึงความนอนใจในระหว่าง” หมายความว่าเมื่อเราปฏิบัติได้คุณธรรมอะไรบางอย่าง ที่ยังไม่สิ้นกิเลส ก็ไม่ควรพอใจอยู่เท่านั้น เพราะคุณวิเศษต่าง ๆ ยังมีอีกมาก

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ธรรมที่ไม่เสื่อมของภิกษุ 6

     1.พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
     2.พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งวจีกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
     3.พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
     4.พวกภิกษุจักเป็นผู้ แบ่งปันลาภอันเป็นธรรม ที่ได้มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้มาตรว่า อาหารอันนับเนื่องในบาตร คือเฉลี่ยกันบริโภค กับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลทั้งหลาย
     5.พวกภิกษุจักมีศีลเสมอกัน กับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญแล้วอันตัณหาทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ
     6.พวกภิกษุจักเป็นผู้มีทิฐิเสมอกัน กับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในทิฐิอันประเสริฐนำออกไปจากทุกข์ นำผู้ปฏิบัติตามเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
     “ภิกษุทั้งหลาย ! อปริหานิยธรรมทั้ง 6 นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง 6 นี้อยู่เพียงใด พึงหวังซึ่งความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

ขยายความ ในการอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก หรือตั้งแต่สองคนขึ้นไป การทำการพูด การคิดของเรา จะต้องมีจิตเมตตาประกอบทุกครั้งไป สังคมนั้นจึงจะสงบสุข และเกิดความสามัคคีแก่หมู่คณะได้
     การอยู่ร่วมกัน เรื่องของลาภผลเป็นปัญหาสำคัญ ถ้าทุกคนมีความตระหนี่และเห็นแก่ตัวแล้ว ความเสื่อมจะเกิดขึ้นในหมู่คณะนั้น ไม่เร็วก็ช้าอย่างแน่นอน
     การอยู่ร่วมกัน ความมีศีลเสมอกัน หรือความไม่รังเกียจกันด้วยศีลจัดเป็นความเจริญประการหนึ่ง ถ้าผู้ใดรู้ว่าตนมีข้อบกพร่องทางกาย หรือทางวาจาก็ดี ควรให้โอกาสเพื่อนแนะนำตักเตือนได้ หรือคิดแก้ไขด้วยตนเอง ก็จะไม่ทำให้หมู่คณะนั้นเสื่อม หรือแตกความสามัคคี
     ประการสุดท้าย ของเหตุแห่งความไม่เสื่อมของภิกษุ การมีความเห็นเสมอกัน ไม่ยึดถือทิฐิมานะของตน ว่าดีกว่าหรือถูกกว่าของคนอื่นหมด โดยยึดหลักธรรมและวินัยเป็นแม่บท สังคมนั้น ๆ จะไม่มีความเสื่อมอย่างแน่นอน
     มีคำกล่าวว่า ทิฐิพระ มานะกษัตริย์ เป็นเรื่องที่ละได้ยากที่สุด แต่ก็ละยากเฉพาะคนพาลเท่านั้น จึงมีคำพูดอยู่ว่า
                    ชาวบ้านทะเลาะกันด้วยเรื่องกาม

                    สมณพราหมณ์ทะเลาะกันด้วยเรื่องทิฐิ

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...