วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาสูงสุด

     ในสมัยใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ขณะที่ทรงสำเร็จสีหไสยา ณ ภายใต้ไม้สาละทั้งคู่ ปรากฏว่าไม้สาละทั้งคู่ เผด็จดอกสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แม้ดอกมณฑารพอันเป็นดอกไม้ทิพย์ ก็ยังตกจากอากาศเพื่อบูชาอย่างมากมาย และดนตรีอันเป็นทิพย์ก็ประโคมอยู่ในอากาศ
      พระพุทธองค์ได้ตรัสกะพระอานนท์ ถึงการบูชาสองอย่างคือการบูชาด้วยอามิสสิ่งของ อันจัดเป็นการบูชาด้วยวัตถุ กับปฏิบัติบูชา คือการกระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ว่า
     “อานนท์ ! ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพนับถือ บูชาและนอบน้อมด้วยเครื่องสักการะ ประมาณเท่านี้หามิได้
     ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่
     ผู้นั้นแล ย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ และบูชา ตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอด
     เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้

ขยายความ ปัญหาเรื่องการปฏิบัติบูชา คือการปฏิบัติตามคำสั่ง และคำสอนของพระพุทธเจ้า กับอามิสบูชา คือการบำรุงศาสนา ด้วยวัตถุสิ่งของหรือปัจจัย 4 ได้แก่เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคนั้น
     นับว่าเป็นปัญหาที่ยังหาข้อยุติยาก ตราบใดที่พุทธบริษัทยังขาด ปัญญา คือความรอบรู้ในหลักธรรมคำสอนอย่างแท้จริงและรู้ตลอดสาย มิใช่เพ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่งเหมือนคนตาบอดคลำช้าง
     ว่าที่จริง อามิสบูชากับปฏิบัติบูชา ต้องกอดคอไปด้วยกัน จึงจะถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสมบูรณ์ และรวดเร็วด้วย ถ้าเปรียบพุทธศาสนาเป็นต้นไม้
     อามิสบูชา ก็เปรียบเหมือนเปลือกกับกระพี้ที่ช่วยหุ้มแก่นไม้
     ปฏิบัติบูชา ก็เปรียบเหมือนแก่นของต้นไม้
     แก่นของไม้ก็ต้องอาศัยเปลือก กับกระพี้ช่วยหุ้มไว้ ถ้าไม่มีเจ้าสองสิ่งนี้ช่วยแก่นไม้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
     แก่น ไม่ว่าจะเป็นแก่นไม้ หรือแก่นศาสนา ผู้มีปัญญาย่อมต้องการตรงกัน แต่ระดับปัญญาของคนมีไม่เท่ากัน
     คนมีปัญญาน้อย ก็เห็นและทำได้ในวงแคบ และมักจะเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เราไม่ควรจะตำหนิกัน ควรจะมีเมตตาและกรุณาต่อกัน ต่อเมื่อจิตเขาพัฒนาขึ้น รู้ว่าอะไรดีกว่าเหนือกว่า เขาจะเลิกสิ่งที่ไร้สาระเหล่านั้นไปเอง

     

วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรรมเก่า-ใหม่และวิธีดับกรรม

     ภิกษุทั้งหลาย ! เราจะแสดงกรรมทั้งกรรมเก่า กรรมใหม่และความดับกรรมพร้อมทั้งวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรม พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็กรรมเก่าเป็นไฉน ตาอันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจอันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
     ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่ากรรมเก่า
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็กรรมใหม่เป็นไฉน กรรมที่บุคคลทำด้วย กาย วาจา และใจในบัดนี้ นี้เราเรียกว่ากรรมใหม่
     ภิกษุทั้งหลาย ! ก็วิธีดับแห่งกรรมเป็นไฉน นิโรธที่ถูกต้อง วิมุติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม นี้เราเรียกว่า ความดับแห่งกรรม
     ภิกษุทั้งหลาย ! ปฏิปทาอันเป็นเครื่อง ให้ถึงความดับแห่ง
กรรมเป็นไฉน อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ คือ 1. สัมมาทิฐิ 2. สัมมาสังกัปปะ 3. สัมมาวาจา 4. สัมมากัมมันตะ 5. สัมมาอาชีวะ 6. สัมมาวายามะ 7. สัมมาสติ 8. สัมมาสมาธิ
     ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรม
     ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมเก่า กรรมใหม่ ความดับแห่งกรรม และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรม เราได้แสดงแล้วแก่พวกเธอด้วยประการดังนี้แล
     กิจอันใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์แก่สาวกทั้งหลายจะพึงทำ กิจนั้นเราได้ทำแล้วเพราะอาศัยอนุเคราะห์
     ภิกษุทั้งหลาย ! นั่นโคนไม้ นั่นเรือนร่าง เธอทั้งหลายจงพยายาม อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลังเลย
     นี้เป็นอนุศาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลาย”

ขยายความ ที่ท่านว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นกรรมเก่านั้น หมายความว่าเป็นของมีมาก่อน พอเกิดขึ้นมาก็มีมาเองแล้ว
     ที่ว่าสำเร็จด้วยเจตนานั้น หมายความว่าต้องตั้งใจ จึงจะสำเร็จกิจ มีการดูด้วยตาเป็นต้น
     ที่ว่าเป็นที่ตั้งแห่งเวทนานั้น หมายความว่าเกิดชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือเฉย ๆ
     ที่ว่ากรรมใหม่นั้น ท่านระบุลงไปที่การกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่เป็นปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม หรือเป็นกลาง ๆ ก็ตาม จัดเป็นกรรมใหม่เพราะเป็นสิ่งที่เราทำขึ้นใหม่
     ที่ว่าความดับแห่งกรรมนั้น ท่านระบุไปที่วิมุติคือความหลุดพ้น ที่เกิดทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม คือต้องดับกันที่การกระทำทางกาย วาจา และใจนั่นเอง
     ที่ว่าข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรม ท่านก็ระบุไปที่ อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ
     ในท้ายสุด ทรงเตือนภิกษุมิให้ประมาท ทรงทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว ถ้าเราปลีกตนออกสู่ที่สงบสงัด มีความเพียรไม่ประมาท เราก็จะไม่เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังอีกต่อไป
    


อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...