วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

ห้ามพระฉันอาหารที่ไม่มีผู้ให้

     
 พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลาป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ครั้งนั้นภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้มีปกติถือของทุกอย่างเป็นบังสุกุล สำนักอยู่ในสุสานประเทศ ท่านไม่ปราถนาจะรับอาหารที่ประชาชนถวาย เที่ยวถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าตามป่าช้าบ้าง ตามโคนไม้บ้าง ตามธรณีประตูบ้าง มาฉันเอง
     ประชาชนต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ว่าไฉนภิกษุนี้ จึงได้ถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้า ของพวกเราไปฉันเล่า ภิกษุนี้อ้วนล่ำ บางทีจะฉันเนื้อมนุษย์กระมัง ?
     ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนพวกนั้น พากันเพ่งโทษติเตียนและโพนทะนาอยู่ บรรดาท่านที่เป็นผู้มักน้อยมีความละอายต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่าไฉนภิกษุได้กลืนอาหาร ที่เขายังไม่ได้ให้ให้ล่วงช่องปากเล่า...
     ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงสอบสวนภิกษุรูปนั้น เธอได้ให้คำตามเป็นจริงแล้วทรงติเตียนว่า
     "ดูก่อนคนเปล่า ! ไฉนเธอจึงได้กลืนอาหาร ที่เขายังไม่ได้ให้ ให้ล่วงช่องปากเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว..."
     ครั้นแล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุกลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก ต่อมาทรงอนุญาตน้ำและไม้สีฟันเพียงสองอย่างเท่านั้น ที่ไม่ต้องมีผู้ให้ก็หยิบฉันและใช้เองได้

ขยายความ ปัญหาเรื่องพระฉันอาหาร ที่ไม่มีผู้ให้ หรือยังไม่ได้รับประเคนนั้น เป็นข้อที่ควรยกมาพิจารณากัน จึงได้ยกต้นบัญญัติมาลงไว้เต็มรูป ว่ามีเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในวินัยมุขเล่ม 1 ก็อธิบายไว้เพียงนิดเดียว
     ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ล้วนเป็นเรื่องการตีความเอาเอง ถ้าใครเป็นคนเจ้าระเบียบ ก็จะตีความหยุมหยิม จุกจิก จนเกิดความวุ่นวายในที่สุด ส่วนตนมักง่าย จะไม่เอาใจใส่เสียเลยถือว่าเป็นของเรา หรือชาวบ้านให้แล้วไม่จำเป็นต้องประเคนอีก แม้จะข้ามคืนก็ตาม แล้วผลเป็นอย่างไร ?
     ทั้งฝ่ายตึงฝ่ายหย่อน ก็ตั้งเป็นข้อรังเกียจซึ่งกันและกัน ด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน ด้วยศีลที่ไม่เสมอกัน จนในที่สุดต้องแยกกัน  หรือถ้าขืนอยู่ด้วยกันก็ไม่สามัคคีกัน แล้วอย่างไร จึงจะถือว่าพอดีไม่เกินไม่ขาด?
     เห็นจะต้องพบกันครึ่งทางกระมัง คือเดินสายกลาง ที่ประกอบด้วยปัญญา คือไม่ตึงจนขาด และไม่หย่อนจนยาน นั่นก็คือศึกษาดูความมุ่งหมาย ของสิกขาบทนั้น ๆ ว่ามีเป้าหมายอย่างไร ถ้าตีความไม่ลงอย่ามีทิฐิ ควรปรึกษาท่านผู้รู้บ้าง
     สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือชาวบ้าน ที่ภิกษุอาศัยเลี้ยงปากท้องอยู่นั่นเอง ถ้าชาวบ้านรังเกียจแล้ว ก็ไม่ควรทำ แต่ควรจะชี้แจงความจริงให้เขารู้พระวินัย ถ้าพออนุโลมกันได้ ก็อนุโลมกันไปก่อน ถ้าเห็นว่าจะเสียรูปแบบของพระมากไป ก็ควรจะพิจารณา ว่าเราสมควรจะอยู่ในสถานที่นั้นต่อไปหรือไม่
     ข้อสำคัญอย่าลืม ว่าเราบวชอุทิศพระพุทธเจ้า อย่าได้เหยียบย่ำ ล้มล้าง บิดเบือน เปลี่ยนแปลงพระวินัย เอาตามใจตนเอง หรือเห็นแก่ชาวบ้าน เอาใจชาวบ้านเป็นอันขาด เดี๋ยว จะกลายเป็นขบถต่อพระพุทธเจ้าไป นรกจะกินหัวผุ

          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อานาปานสติสูตร (ตอนจบ)

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้      พระเถระผู้มีนามปรากฏในพระสูตรนี้ เป็นพระเถระยุคต้นพุทธกาล เป็นเอตทัคคสาวก ในจำนวน 43 ท่าน การที่นำเอาชื่อพร...